ผลของการทำลายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของมอดหนวดยาว
ภรณ์ธิรา ปิงน้ำโท้ง เยาวลักษณ์ จันทร์บาง และ วิเชียร เฮงสวัสดิ์
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 41 : 1 (พิเศษ) : 337-340 (2553)
2553
บทคัดย่อ
การทดลองผลของการทำลายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของมอดหนวดยาว(Cryptolestes sp.)ศึกษาที่สถาบันวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเสียหายของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังจากถูกมอดหนวดยาวเข้าทำลาย และการเพิ่มปริมาณของมอดหนวดยาวหลังจากทำการเก็บรักษา โดยนำเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาเก็บรักษาเป็นระยะเวลา 6 เดือน ทำการปล่อยมอดหนวดยาว 6กรรมวิธี คือ 0 (ชุดควบคุม),4, 8, 12, 16 และ 20 ตัวต่อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 200 กรัมพบว่า เมื่อระยะเวลาเก็บรักษาเพิ่มขึ้นมอดหนวดยาวเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนมากขึ้น ความหนาแน่นของแมลงจำนวน 8 ตัวต่อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 200กรัมมีความเหมาะสมต่อการเจริญของแมลงมากที่สุด สามารถให้รุ่นลูก 282 ตัว และทำให้น้ำหนักเมล็ดเต็มลดลง 1.96 เปอร์เซ็นต์ และมีเมล็ดแตกหักเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มอดหนวดยาวจำนวน 4-12 ตัวต่อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 200 กรัมกัดกินทำให้เกิดฝุ่นผงได้มากที่สุด 0.4เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก มอดหนวดยาวเป็นแมลงที่ทำลายส่วนคัพภะ (germ) ดังนั้น จึงวัดความเสียหายของเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เมล็ดเต็มโดยวัดจากความมีชีวิตของเมล็ด ด้วยวิธีเตตราโซเลียม (Tetrazolium test) พบว่า ความมีชีวิตของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เมื่อเริ่มทดลองเฉลี่ย 47เปอร์เซ็นต์ การเข้าทำลายของมอดหนวดยาวและระยะเวลาในการเก็บรักษามีผลร่วมกันทำให้ความมีชีวิตของเมล็ดข้าวโพดลดลงประมาณ 10เปอร์เซ็นต์ เมื่อระยะเวลาผ่านไป 6 เดือน