การใช้เทคนิคเนียร์อินฟราเรดสเปกโทรสโกปีตรวจสอบการปนของข้าวสารพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ด้วยข้าวพันธุ์ชัยนาท 1
ศศิวิมล มากมูล ศุภศักดิ์ ลิมปิติ และ ปาริชาติ เทียนจุมพล
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 41 : 1 (พิเศษ) : 377-380 (2553)
2553
บทคัดย่อ
ผสมข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ด้วยข้าวพันธุ์ชัยนาท 1 ที่ระดับ 8, 16 และ 24 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก มาวัดสเปกตรัมด้วยเครื่อง NIRSystem 6500 ช่วงความยาวคลื่น 1100-2500 นาโนเมตร เปรียบเทียบกับข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และข้าวพันธุ์ชัยนาท 1ที่บริสุทธิ์ เพื่อใช้ประโยชน์ในการตรวจสอบการปนของข้าว ร่วมกับการวัดปริมาณอะไมโลส นำสเปกตรัมที่ได้มาวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธี principal component analysis (PCA) พบว่า สเปกตรัมของตัวอย่างข้าวสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มด้วย PC1 และ PC2 โดย กลุ่มที่ 1 คือ สเปกตรัมของตัวอย่างข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 บริสุทธิ์ และตัวอย่างข้าวที่ผสมด้วยข้าวพันธุ์ชัยนาท 1 ที่ระดับ 8,16 และ 24%ตามลำดับ และกลุ่มที่ 2 คือสเปกตรัมของข้าวพันธุ์ชัยนาท 1 เมื่อตรวจสอบปริมาณอะไมโลส พบว่าข้าวพันธุ์ชัยนาท 1 มีปริมาณอะไมโลสเฉลี่ยสูงที่สุด เท่ากับ 33.1±1.81% ข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 บริสุทธิ์ และข้าวที่ผสมที่ระดับ 8, 16 และ 24 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก มีปริมาณอะไมโลสเฉลี่ยเท่ากับ 19.1±1.63, 20.9±1.31, 22.2±1.34 และ 23.5±1.80% ตามลำดับ พบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) เทคนิคเนียร์อินฟราเรดสเปกโทรสโกปี จึงสามารถใช้ในการตรวจสอบการปนของข้าวได้