การทำนายอาการเนื้อแก้วจากน้ำมังคุดโดยใช้เทคนิคการดูดกลืนแสงในช่วงความยาวคลื่นใกล้อินฟราเรด
สนธิสุข ธีระชัยชยุติ อนุพันธ์ เทิดวงศ์วรกุล จุฑามาศ ผลอุดม และ วรรณชยา เอื้อมเสถียรพร
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 41 : 1 (พิเศษ) : 385-388 (2553)
2553
บทคัดย่อ
ประเทศไทยมีแนวโน้มการส่งออกมังคุดเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี แต่ก็ยังมีอุปสรรคในการส่งออก เนื่องจากปัญหาในเรื่องคุณภาพภายใน ได้แก่ อาการเนื้อแก้ว ยางไหล เป็นต้น ดังนั้นจึงได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการนำเทคนิคการดูดกลืนแสงช่วงใกล้อินฟราเรด (NIR)ในช่วงความยาวคลื่น 1,100 - 2,500นาโนเมตร มาใช้ในการทำนายอาการเนื้อแก้ว โดยพิจารณาจากปริมาณของแข็งทั้งหมดที่ละลายได้ของน้ำมังคุดเพื่อนำมาสร้างสมการเพื่อใช้ทำนายอาการเนื้อแก้วจากกลุ่มของมังคุดปกติและมังคุดเนื้อแก้ว จากผลในการนำสมการทั้งสองไปใช้ทำนายพบว่าสมการน้ำมังคุดปกติได้ผลการทำนายที่แม่นยำในกลุ่มของมังคุดปกติ (R= 0.935, SEP = 0.655, bias = 0.047) และให้ผลการทำนายที่ไม่ดีในกลุ่มของมังคุดเนื้อแก้ว (R = 0.812, SEP =1.245, bias = 0.224) นอกจากนี้การใช้เทคนิคคัดแยกจากสเปตรัมที่ความยาวคลื่น 1,444นาโนเมตร และค่าการดูดกลืนพลังงานที่ 0.756สามารถใช้ในการคัดแยกได้แม่นยำ 82.5% กล่าวได้ว่าการใช้เทคนิค NIRSมีความเป็นไปได้ที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในการทำนายและคัดแยกมังคุดเนื้อแก้วได้