บทคัดย่องานวิจัย

การปนเปื้อนโดย Escherichia coli ในแปลงผลิตที่มีผลต่อคุณภาพของผักกาดหอมหลังการเก็บเกี่ยว

ชัยณรงค์ รัตนกรีฑากุล และ ชุตินธร หยุนแดง

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 41 : 1 (พิเศษ) : 572-575 (2553)

2553

บทคัดย่อ

การปนเปื้อนโดย Escherichia coli ในแปลงผลิตที่มีผลต่อคุณภาพของผักกาดหอมหลังการเก็บเกี่ยว

การปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคที่ติดไปกับผักสดสามารถเกิดขึ้นได้เนื่องการไม่มีระบบจัดการที่ดีในแปลงผลิต สภาพจำลองของการปนเปื้อนจึงได้ทดสอบโดยใช้เชื้อแบคทีเรีย Escherichia coli และผักกาดหอม โดยเชื้อแบคทีเรีย E. coliที่แยกด้วยอาหารเลี้ยงเชื้อ Eosin methylene blue (EMB) จากตัวอย่างอาหารปรุงสำเร็จในตลาดสด และนำไปเพิ่มปริมาณด้วยอาหาร Nutrient brothเป็นเวลา 36ชั่วโมงก่อนนำไปปลูกเชื้อลงในพืชด้วยวิธีต่างๆ ได้แก่ การราดเชื้อลงดิน การฉีดพ่นเชื้อที่ใบ  การสร้างบาดแผลที่ลำต้น และการผสมเชื้อลงดินก่อนการย้ายปลูกต้นกล้า ซึ่งจะบ่งบอกถึงโอกาสการปนเปื้อนไปสู่ผักกาดหอม ทำการตรวจนับปริมาณเชื้อแบคทีเรียในผักกาดหอมภายหลังการปลูกเชื้อ 3 วัน 7 วัน และ 14 วัน ด้วยวิธี dilution plate count ด้วย อาหาร EMB agar พบว่าผักกาดหอมมีโอกาสปนเปื้อนได้สูงในตัวอย่างที่ได้รับเชื้อทางบาดแผลบริเวณลำต้นของผักกาดหอมที่ไม่มีการย้ายปลูก และในต้นกล้าผักกาดหอมที่ย้ายลงปลูกในดินที่มีเชื้อจุลินทรีย์ สำหรับการฉีดพ่นเชื้อหรือการรับเชื้อผ่านการชะล้างสู่ผักกาดหอมที่ไม่มีการย้ายปลูกจะพบอย่างจำกัดในตัวอย่างภายหลังการปลูกเชื้อ 7ถึง 14 วัน ดังนั้นเชื้อ E. coli มีโอกาสปนเปื้อนในผักกาดหอมที่มีบาดแผลได้มากกว่าในผักกาดหอมที่สมบูรณ์หรือผักกาดหอมที่ไม่มีบาดแผล