บทคัดย่องานวิจัย

การประเมินคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานที่แตกต่างกันโดยวิธีการเร่งอายุ

วิทวัส ธีรธิติ นงนุช แสงหิน และ บุญมี ศิริ

การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 9. วันที่ 11-14 พฤษภาคม 2553. ณ โรงแรมกรุงศรีริเวอร์

2553

บทคัดย่อ

การประเมินคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานที่แตกต่างกันโดยวิธีการเร่งอายุ

 

ศักยภาพในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ขึ้นกับคุณภาพความงอกและความแข็งแรงเริ่มต้นของเมล็ด การทดลองนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินคุณภาพเมล็ดพันธุ์เริ่มต้นที่แตกต่างกันโดยวิธีการเร่งอายุ ทำการทดลองที่ห้องตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ โรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินการทดลองโดยนำเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานเก็บรักษาในห้องควบคุม และไม่ควบคุมสภาพแวดล้อมตามลำดับ เป็นเวลา 8 เดือนโดยสุ่มเมล็ดตรวจสอบคุณภาพหลังการเก็บรักษาทุกๆเดือน โดยตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงคุณภาพเมล็ดเบื้องต้นหลังการเก็บรักษา และคุณภาพเมล็ดหลังการเร่งอายุ ที่อุณหภูมิ 41 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 72 ชั่วโมง การตรวจสอบคุณภาพเมล็ดได้แก่ ความงอกของเมล็ดที่เพาะในห้องปฏิบัติการและในสภาพไร่ และความเร็วในการงอก จากการทดลองพบว่าเมื่อเร่งอายุเมล็ดที่มีคุณภาพเริ่มต้นต่างกันจะให้ผลแตกต่างกันโดยพบว่าเมล็ดที่มีคุณภาพเริ่มต้นต่ำเมื่อเร่งอายุแล้วคุณภาพเมล็ดจะลดลงมากกว่าเมล็ดที่มีคุณภาพเริ่มต้นสูงกว่า นอกจากนี้ยังพบว่า คุณภาพเมล็ดหลังการเร่งอายุมีทิศทางการลดลงเช่นเดียวกับคุณภาพหลังการเก็บรักษาในลักษณะ sigmoid curve และสามารถคำนวณการเสื่อมคุณภาพเมล็ดได้จากสมการ logistic โดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์การเสื่อมและสัมประสิทธิ์สภาพเริ่มต้นของเมล็ด จากการทดลองนี้แสดงให้เห็นว่าวิธีการเร่งอายุเมล็ดสามารถใช้ในการประเมินคุณภาพเมล็ดข้าวโพดหวานที่มีคุณภาพเริ่มต้นแตกต่างกันได้