การพัฒนาการตรวจสอบคุณภาพแบบไม่ทำลายผลของกีวีฟรุตในประเทศไทย
ปณวัตร สิขัณฑกสมิต วิจิตรา สายรวมญาติ ปณัฏฐ์ อมรวรรัตน์ รณฤทธิ์ ฤทธิรณ และ อุษณีย์ พิชกรรม
การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 9. วันที่ 11-14 พฤษภาคม 2553. ณ โรงแรมกรุงศรีริเวอร์
2553
บทคัดย่อ
การพัฒนาวิธีการตรวจสอบคุณภาพแบบไม่ทำลายผลโดยเครื่อง Near infrared spectroscopy (NIRs) และวิธีการหาความหนาแน่นของผลเพื่อทำนายปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ (TSS), ปริมาณกรด (TA), และค่า Dry matter ของกีวีฟรุตพันธุ์การค้าที่ปลูก ณ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ คือ Actinidia deliciosa C.F. Liang et. A.R. Ferguson ‘Bruno’ (พันธุ์เนื้อเขียว) และ A. chinensis Planch. ‘Yellow Joy’ (พันธุ์เนื้อเหลือง) โดยศึกษาในระหว่างเดือนกันยายน – เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2552 การวัดความหนาแน่นของผลกีวีฟรุตนั้นนำโดยการแทนที่น้ำ ส่วนการวัดด้วยเครื่อง NIRs ทำโดยการวัดในช่วงความยาวคลื่น 700 -1100 nm ทำการศึกษาในกีวีฟรุตสองกลุ่ม คือ กลุ่มผลที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว (N = 280) และกลุ่มผลที่พร้อมนำออกจำหน่าย (N = 120 ) ผลการทดลองพบว่า กีวีฟรุตพันธุ์ Bruno และ Yellow Joy ดูดกลืนแสงในช่วงความยาวคลื่นไม่แตกต่างกัน โดยที่การทำนายค่า DM, TSS, และ TA ในผลที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยเครื่อง NIRs มีค่า Standard error of prediction (SEP) อยู่ที่ ±0.864%, ±1.096°, และ ±0.178% ตามลำดับ ในขณะเดียวกันค่า SEP ในการทำนายค่า DM, TSS, และ TA ของผลที่พร้อมนำออกจำหน่าย คือ ±1.830%, ±0.705°, และ ±0.247% ตามลำดับ และวิธีการตรวจสอบคุณภาพผลโดยเครื่อง NIRs นั้นมีค่า Bias ในการทำนายต่ำกว่า 0.87% ในทางตรงกันข้ามกับวิธีหาความหนาแน่นของผลนั้นไม่สามารถทำนายค่า TSS, TA, และ DM ได้อย่างแม่นยำ วิธีการวัดด้วยเครื่อง NIRs สามารถทำนายคุณภาพผลกีวีฟรุตได้ดีกว่าทั้งในผลที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวและผลที่พร้อมนำออกจำหน่าย