การพัฒนาสีของผลมะม่วงน้ำดอกไม้ที่ฉายรังสีระหว่างการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ
เฉลิมชัย วงษ์อารี และ ชวนพิศ จิระพงษ์
การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 9. วันที่ 11-14 พฤษภาคม 2553. ณ โรงแรมกรุงศรีริเวอร์
2553
บทคัดย่อ
ผลมะม่วงสดที่จะส่งไปจำหน่ายยังประเทศสหรัฐอเมริกานั้นจำเป็นต้องผ่านการฉายรังสีตามข้อบังคับ วัตถุประสงค์ของการทดลองนี้ก็เพื่อตรวจสอบผลของการฉายรังสีแกมมา (400 เกย์) กับผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ระยะแก่บริบูรณ์ (mature green stage) ต่อการสุกและคุณภาพของผลมะม่วงระหว่างการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 90-95 พบว่าหลังการฉายรังสีผลมะม่วงมีอัตราการผลิตเอทิลีนสูงมากแต่หลังจากนั้นมะม่วงที่ฉายและไม่ฉายรังสี (ชุดควบคุม) มีการผลิตเอทีลีนไม่แตกต่างกันซึ่งความแน่นเนื้อของผลลดลงอย่างรวดเร็วหลังวันที่ 15 ของการเก็บรักษา และถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงสีเนื้อของผลมะม่วงจะไม่แตกต่างกันแต่เปลือกของผลในชุดควบคุมมีการเปลี่ยนแปลงเป็นสีเหลืองมากกว่า โดยเห็นได้ชัดหลังจากวันที่ 15 ของการเก็บรักษาเมื่อวัดจากค่า L Hunter scales ค่า hue angles และปริมาณสารเบต้าแคโรทีนซึ่งผลมะม่วงน้ำดอกไม้ที่ฉายรังสีเมื่อสุกเต็มที่เปลือกมีสีเหลืองปนเขียว