ประสิทธิภาพของสารสกัดหยาบจากใบขี้เหล็กต่อการยับยั้งเชื้อรา Fusarium sp. และ Lasiodiplodia theobromae สาเหตุโรคขั้วหวีเน่าของกล้วย
อัจฉรา ฉัตรแก้ว อภิรดี อุทัยรัตนกิจ ธิติมา วงษ์ชีรี และ ผ่องเพ็ญ จิตอารีย์รัตน
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 40 ฉบับที่ 3 (พิเศษ). หน้า 33-36. 2552.
2552
บทคัดย่อ
กล้วยหอมทองเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ แต่ปัญหาที่สำคัญในระหว่างการขนส่งและเก็บรักษาคือ การเน่าเสียที่ขั้วหวีที่เกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อรา Fusarium sp. และ Lasiodiplodia theobromae ดังนั้นในศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดหยาบจากใบขี้เหล็กในการควบคุมการเจริญของเชื้อรา Fusarium sp. และ L. theobromae เพื่อใช้เป็นแนวทางในการควบคุมโรคหลังการเก็บเกี่ยวของกล้วยหอมทอง โดยการเลี้ยงเส้นใยและสปอร์เชื้อราบนอาหาร Potato dextrose agar (PDA) ที่ผสมสารสกัดหยาบจากใบขี้เหล็กที่ความเข้มข้น 0 (ชุดควบคุม) 500 1,000 5,000 และ 10,000 mg/L พบว่าที่ความเข้มข้น 10,000 mg/L ไม่สามารถยับยั้งการเจริญของเส้นใยเชื้อราทั้งสองชนิดนี้ได้ ในขณะที่ที่ความเข้มข้น 10,000 mg/L สามารถยับยั้งการงอกของสปอร์เชื้อรา Fusarium sp. และ L. theobromae ได้เท่ากับ 100% และ 64.36% ตามลำดับ จากผลการทดลองนี้แสดงให้เห็นว่าสารสกัดหยาบจากใบขี้เหล็กที่ความเข้มข้น 10,000 mg/L มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการงอกของสปอร์เชื้อราทั้งสองชนิดได้ แต่ไม่สามารถยับยั้งการเจริญของเส้นใยเชื้อราได้ ดังนั้นหากจะนำสารสกัดหยาบจากใบขี้เหล็กไปใช้ในการควบคุมโรคขั้วหวีเน่าของกล้วย ควรใช้ก่อนที่จะมีการเข้าทำลายของเชื้อราทั้งสองชนิดนี้