ผลของการรมกรดอะซิติกต่อการควบคุมโรคและคุณภาพของลำไย
นิธิภัทร บุญปก ผ่องเพ็ญ จิตอารีย์รัตน์ อภิรดี อุทัยรัตนกิจ วาริช ศรีละออง และ ทรงศิลป์ พจน์ชนะชัย
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 41 ฉบับที่ 3/1 (พิเศษ). หน้า 377-380. 2553.
2553
บทคัดย่อ
ลำไยเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมและทำรายได้เข้าสู่ประเทศไทยในแต่ละปีจำนวนไม่น้อย ปัจจุบันการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวลำไยเพื่อควบคุมโรคผลเน่าของลำไย ผู้ประกอบการนิยมรมลำไยด้วยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ แต่สารซัลเฟอร์ที่ตกค้างบนผลผลิตอาจมีผลทำให้ผู้บริโภคเกิดอาการแพ้ ผื่นแดงหรือมีอาการคันเมื่อสัมผัสผลลำไย ดังนั้นการศึกษาวิธีการควมคุมโรคผลเน่าของลำไยที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคจึงเป็นสิ่งจำเป็น งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการรมไอกรดอะซิติกต่อการควบคุมเชื้อราAspergillus niger ซึ่งเป็นเชื้อสาเหตุโรคผลเน่าของลำไยพันธุ์ดอในสภาพ vitro และ vivo ผลการทดลองพบว่า การรมไอกรดอะซิติก (glacial acetic acid) นาน 1 ชั่วโมง สามารถยับยั้งการเจริญทางเส้นใยและการงอกของสปอร์เชื้อราได้สมบูรณ์ สำหรับการรมลำไยที่ปลูกด้วยสปอร์แขวนลอยของเชื้อ A. niger ด้วยไอกรดอะซิติกนาน 1 ชั่วโมง และเก็บรักษาที่ 2ºC นาน 21 วัน พบว่าลำไยที่รมด้วยไอกรดอะซิติกและไม่รม (ชุดควบคุม) มีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคผลเน่า 7 และ 39 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ เเละพบว่าการรมไอกรดอะซิติกมีแนวโน้มที่สามารถช่วยชะลอการสูญเสียน้ำหนักสดและอัตราการหายใจได้ แต่มีผลทำให้ค่า hue angle ของเปลือกลดลง (เปลือกมีสีน้ำตาล) ในขณะที่ความแน่นเนื้อของเปลือกและการรั่วไหลของไอออนของเนื้อลำไยทั้งสองชุดไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ