ความสามารถในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดและข้าวโพดเทียนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ศานิต สวัสดิกาญจน์
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 41 ฉบับที่ 3/1 (พิเศษ). หน้า 485-488. 2553.
2553
บทคัดย่อ
การทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสามารถในการเก็บรักษาของเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดและข้าวโพดเทียนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยนำเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด 2 พันธุ์ คือ พันธุ์นครสวรรค์ 1 และนครสวรรค์ 72 และเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเทียน 2 พันธุ์ คือ พันธุ์สำลีและบ้านเกาะ เก็บรักษาในถุงกระดาษที่อุณหภูมิห้อง (37๐ซ.) นานต่างกัน 5 ระยะ คือ 0, 3, 6, 9 และ 12 เดือน วัดคุณภาพของเมล็ดพันธุ์หลังการเก็บรักษาทุก 3 เดือน จำนวน 5 ลักษณะ คือ ความงอกมาตรฐาน ความงอกหลังการเร่งอายุ ดัชนีความเร็วในการงอก ความยาวยอด และน้ำหนักแห้งของต้นกล้า พบว่า การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดและข้าวโพดเทียนทั้ง 2 พันธุ์ในถุงกระดาษที่อุณหภูมิห้องทำให้เมล็ดพันธุ์เสื่อมคุณภาพตามอายุการเก็บรักษาและควรเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์นานประมาณ 6 เดือน โดยการเก็บรักษานาน 6 เดือน ทำให้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดพันธุ์นครสวรรค์ 1 มีความงอกร้อยละ 97 ส่วนพันธุ์นครสวรรค์ 72 มีความงอกร้อยละ 95 สำหรับการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเทียนในถุงกระดาษที่อุณหภูมิห้อง พบว่า การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์นาน 6 เดือน พันธุ์สำลีมีความงอกร้อยละ 96 และพันธุ์บ้านเกาะมีความงอกร้อยละ 92 การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดและข้าวโพดเทียนเป็นเวลานาน 9 และ 12 เดือน ทำให้เมล็ดพันธุ์มีความงอกค่อนข้างต่ำ โดยพันธุ์นครสวรรค์ 1 ที่เก็บรักษานาน 9 และ 12 เดือน มีความงอกร้อยละ 76 และ 42 ตามลำดับ พันธุ์นครสวรรค์ 72 ที่เก็บรักษานาน 9 และ 12 เดือน มีความงอกร้อยละ 78 และ 52 ตามลำดับ สำหรับการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเทียน พบว่า พันธุ์สำลีที่เก็บรักษานาน 9 และ 12 เดือน มีความงอกร้อยละ 78 และ 50 ตามลำดับ ส่วนพันธุ์บ้านเกาะที่เก็บรักษานาน 9 และ 12 เดือน มีความงอกร้อยละ 70 และ 42 ตามลำดับ