การควบคุมเชื้อจุลินทรีย์ในน้ำยาปักแจกันของดอกเบญจมาศด้วยโซเดียมคาร์บอเนตและโพแทสเซียมซอร์เบท
กษมา ชารีโคตร และ ผ่องเพ็ญ จิตอารีย์รัตน์
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 : 1 (พิเศษ) : 23-26 (2554)
2554
บทคัดย่อ
การเสื่อมสภาพของช่อดอกเบญจมาศภายหลังการเก็บเกี่ยวมีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะการเหี่ยวของช่อดอกเนื่องจากเชื้อจุลินทรีย์เข้าไปอุดตันในท่อลำเลียงน้ำทำให้พืชไม่สามารถดูดน้ำไปใช้ได้ ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของโซเดียมคาร์บอเนต(SC) และโพแทสเซียมซอร์เบท (PS) ต่อการควบคุมเชื้อจุลินทรีย์ในน้ำยาปักแจกันของช่อดอกเบญจมาศในสภาพ in vitroและ in vivo โดยทำการเกลี่ยเชื้อจุลินทรีย์ที่แยกได้จากน้ำปักแกจันของดอกเบญจมาศบนอาหาร nutrient agar (NA) ที่ผสม SC ความเข้มข้น 0.25 และ 0.5% และ PS ที่ความเข้มข้น 0.75 และ 1.0% สำหรับชุดควบคุมคือใช้อาหาร NA ผลการทดลองพบว่า 0.25-0.50% SC และ 0.75-1.00% PS สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ได้ 100% การทดสอบในสภาพ in vivo ทำโดยปักช่อดอกเบญจมาศลงในสารละลาย sucrose(SU) 5%ร่วมกับ SC ความเข้มข้น 0.25 และ 0.50% หรือ PS ความเข้มข้น 0.75 และ 1.0%และวางไว้ที่อุณหภูมิ 25ºC สำหรับชุดควบคุมคือปักช่อดอกในน้ำกลั่น ร่วมกับ 5% SU ผลการทดลองพบว่า ช่อดอกเบญจมาศที่ปักใน 0.5% SC ร่วมกับ 5% SU มีอัตราการดูดน้ำที่สูง มีคะแนนความสดของดอกและใบสูงกว่าชุดทดลองอื่นๆ และสามารถลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ในสารละลายปักแจกันลงได้เท่ากับ 0.73 log10 CFU/mlโดยที่ช่อดอกมีอายุการปักแจกันนานที่สุดเท่ากับ 11.5 วัน ส่วนการใช้ PS เป็นสารละลายปักแจกัน พบว่า PS ความเข้มข้น 0.75-1.0% สามารถลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ในน้ำปักแจกันลงได้ดีที่สุด 1.9 log10 CFU/ml แต่การปักช่อดอกใน PS ความเข้มข้น 0.75-1.0% มีผลทำให้เนื้อเยื้อพืชได้รับความเสียหายคือ ทำให้ก้านและใบเปลี่ยนเป็นสีดำ กลีบดอกจะม้วนงอ และช่อดอกมีอายุการปักแจกันเพียง 6 วัน ในขณะที่ช่อดอกในชุดควบคุมมีอายุการปักแจกันนาน 10วัน