การฉายรังสียูวีสามารถชะลอการเหลืองของมะนาวตาฮิติ
วาริช ศรีละออง สุกัญญา เอี่ยมละออ และนะโอะกิ ยะมะอุจิ
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 : 1 (พิเศษ) : 35-38 (2554)
2554
บทคัดย่อ
มะนาวตาฮิติจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับมะนาวที่ปลูกในประเทศไทย ซึ่งวัยของมะนาวในระยะที่เปลือกยังคงเป็นสีเขียวคือลักษณะที่ต้องการของผู้บริโภคเนื่องจากอุดมไปด้วยสารประกอบหอมระเหยและมีกลิ่นเฉพาะตัว แต่อย่างไรก็ตามหลังจากการเก็บเกี่ยวมะนาวพบว่าการเหลืองของเปลือกเป็นปัญหาที่สำคัญซึ่งทำให้อายุการวางจำหน่ายสั้นลง จากการศึกษาที่ผ่านมาได้มีความพยายามในการลดการเหลืองของเปลือกมะนาวโดยการเคลือบผิว การเก็บรักษาในถุงดัดแปลงบรรยากาศ การใช้ความร้อนและวิธีการอื่นๆ อีกมากมาย แต่ยังไม่มีการศึกษาผลของการฉายรังสียูวีบีต่อการควบคุมการเหลืองของมะนาว ดังนั้นในงานวิจัยนี้จึงได้ศึกษาการฉายรังสียูวีบีที่ความเข้ม 0 (ชุดควบคุม) 8.8 และ 13.2 กิโลจูลต่อตารางเมตร เพื่อชะลอการเหลืองของมะนาวในระหว่างการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ผลการศึกษาพบว่าการใช้รังสียูวีบีที่ระดับ 13.2 กิโลจูลต่อตารางเมตร มีการกระตุ้นให้เกิดการสูญเสียน้ำออกจากผลมะนาวในขณะที่การสูญเสียน้ำของผลมะนาวในชุดควบคุมและผลที่ฉายรังสียูวีบี 8.8 กิโลจูลต่อตารางเมตร แตกต่างกันเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้รังสียูวีบีที่ระดับ 13.2 กิโลจูลต่อตารางเมตร ยังกระตุ้นให้เกิดการสลายของคลอโรฟิลล์เร็วกว่าชุดการทดลองอื่นๆ สำหรับการฉายรังสียูวีบีที่ระดับ 8.8 กิโลจูลต่อตารางเมตร สามารถชะลอการสลายของคลอโรฟิลล์ได้ดีกว่าชุดการทดลองอื่นๆ ดังนั้นการใช้รังสียูวีบีในระดับที่เหมาะสมจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยวมะนาว