บทคัดย่องานวิจัย

การตรวจสอบอาการสะท้านหนาวในผลมะม่วงด้วยเนียร์อินฟราเรดสเปกโทรสโกปี

ระจิตร สุวพานิช และปาริชาติ เทียนจุมพล

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 : 1 (พิเศษ) : 59-62 (2554)

2554

บทคัดย่อ

การตรวจสอบอาการสะท้านหนาวในผลมะม่วงด้วยเนียร์อินฟราเรดสเปกโทรสโกปี

 

อาการสะท้านหนาวเป็นอาการผิดปกติของผลมะม่วงภายหลังการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ  ในการตรวจสอบอาการ ผิดปกติ นี้ต้องใช้ผู้มีประสบการณ์และความชำนาญ ดังนั้นเทคนิค near infrared spectroscopy (NIRS) จึงถูกนำมาใช้ในการตรวจสอบอาการสะท้านหนาวในผลมะม่วง ผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองถูกทำให้เกิดอาการสะท้านหนาว โดยนำไปเก็บรักษาในตู้ควบคุมอุณหภูมิ 5±1 องศาเซลเซียส วัดสเปกตรัมด้วยเครื่อง NIRSystem 6500 ช่วงความยาวคลื่น 700 – 1100 นาโนเมตร ร่วมกับการวัดการรั่วไหลของสารอิเลกโตรไลท์จากเนื้อมะม่วงและปริมาณความชื้นของเนื้อมะม่วง ที่ระยะเริ่มต้นและภายหลังการเก็บรักษาเป็นเวลา 15 และ 30 วัน  นำข้อมูลสเปกตรัมผลมะม่วง การรั่วไหลของสารอิเลกโตรไลท์ และปริมาณความชื้น มาสร้างสมการเทียบมาตรฐาน ด้วยวิธี partial least squares regression (PLSR) พบว่า สมการเทียบมาตรฐานของการรั่วไหลของอิเลกโตรไลท์ มีค่า สัมประสิทธิ์การตัดสินใจ (correlation of determination, R2) ค่าความคลาดเคลื่อนในการทำนายตัวเอง (root mean square error of cross validation, RMSECV) และ ค่าความคลาดเคลื่อนในการทำนาย (root mean square error of prediction, RMSEP)เท่ากับ 0.74, 1.50 % และ 1.89 %ตามลำดับ ส่วนสมการเทียบมาตรฐานของความชื้นของเนื้อมะม่วง มีค่า R2, RMSECV และ RMSEP เท่ากับ 0.85,0.53 % และ 0.72 % ตามลำดับ จะเห็นว่าสมการเทียบมาตรฐานของความชื้นให้ผลดีกว่าสมการเทียบมาตรฐานการรั่วไหลของสารอิเลกโตรไลท์ อย่างไรก็ตามต้องพิจารณาร่วมกับข้อมูลอื่นด้วย อาทิ ข้อมูลสีของเนื้อมะม่วง และคะแนนการประเมินอาการสะท้านหนาว