บทคัดย่องานวิจัย

การเปลี่ยนแปลงประชากรของเชื้อราสาเหตุโรคแอนแทรกโนสในระยะตัดแต่งกิ่งถึงการเก็บเกี่ยวผลและผลการใช้สารกำจัดเชื้อราในสวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

รัฐพล พรประสิทธิ์ พิเชษฐ์ น้อยมณี ศศิธร การะบุญ พงศธร ธรรมถนอม และปริญญา จันทรศรี

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 : 1 (พิเศษ) : 99-102 (2554)

2554

บทคัดย่อ

การเปลี่ยนแปลงประชากรของเชื้อราสาเหตุโรคแอนแทรกโนสในระยะตัดแต่งกิ่งถึงการเก็บเกี่ยวผลและผลการใช้สารกำจัดเชื้อราในสวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

ทำการศึกษาการเปลี่ยนแปลงประชากรของเชื้อราสาเหตุโรคแอนแทรกโนสทุก 15 วัน ตั้งแต่ระยะตัดแต่งถึงระยะเก็บเกี่ยวโดยวางแผนการทดลองซ้ำในสวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ระหว่างฤดูการผลิตในปี 2552 ถึง 2553 จำนวนประชากรของเชื้อสาเหตุโรคแอนแทรกโนสทั้งหมด เปลี่ยนแปลงไปตามพัฒนาการของมะม่วงในแต่ละช่วงอายุและสภาพของอากาศ  จากการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ พบว่าสามารถแยกเชื้อส่วนใหญ่เป็นเชื้อรา Colletotrichum spp.  ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคแอนแทรกโนส ได้จากตัวอย่างเนื้อเยื่อพืชที่เก็บในระยะตัดแต่งกิ่งจนถึงระยะเก็บเกี่ยว การเขตกรรมมีบทบาทสำคัญในการลดการเข้าทำลายของเชื้อ ด้วยวิธีการรักษาความสะอาดในสภาพสวน และกำจัดเศษพืชหลังการตัดแต่งกิ่ง ในขณะที่สวนที่ไม่มีการจัดการที่ดีส่งผลให้มะม่วงเป็นโรครุนแรง การฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราอย่างเป็นระบบระหว่างการเจริญของมะม่วงสามารถลดจำนวนประชากรของเชื้อราได้อย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือการกำหนดโปรแกรมฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา ได้แก่ คอปเปอร์ออกไซด์ คอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์ แมนโคเซ็ป คาร์เบนดาซิม อะซอกซี่สโตรบิน และโปรคลอราซ สลับกันทุก 15 วัน รวม 11ครั้ง ตั้งแต่ระยะตัดแต่งกิ่งจนถึงระยะห่อผล ให้ประสิทธิภาพที่ดีในการควบคุมโรคแอนแทรกโนสในสวนมะม่วง