บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาการลดสารตกค้างคลอไพริฟอสในผลพริกขี้หนูสดหลังการเก็บเกี่ยว โดยการใช้ปฏิกิริยาเคมีที่ใช้แสงเป็นตัวเร่งของไททาเนียมไดออกไซด์ร่วมกับโอโซน

ภัทราภรณ์ ชุติดำรง กานดา หวังชัย สาธิต ปิยนลินมาศ และจำนงค์ อุทัยบุตร

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 : 1 (พิเศษ) : 127-130 (2554)

2554

บทคัดย่อ

การศึกษาการลดสารตกค้างคลอไพริฟอสในผลพริกขี้หนูสดหลังการเก็บเกี่ยว โดยการใช้ปฏิกิริยาเคมีที่ใช้แสงเป็นตัวเร่งของไททาเนียมไดออกไซด์ร่วมกับโอโซน

 

จากการศึกษาผลการใช้ปฏิกิริยาเคมีที่ใช้แสงเป็นตัวเร่งของไททาเนียมไดออกไซด์ (TiO2) ร่วมกับโอโซนต่อการลด สารคลอไพริฟอสตกค้างในพริกขี้หนู โดยใช้สารละลายคลอไพริฟอสมาตรฐานเข้มข้น 1 มก/ล และนำมาทดสอบกับชุดปฏิกิริยาเคมีที่ใช้แสงเป็นตัวเร่งโดยผสม TiO2 ปริมาณ 10 มก/มล ร่วมกับการให้โอโซนความเข้มข้น 200 ppm หลังจากนั้นสุ่มตัวอย่างทุกๆ 10 นาทีเป็นเวลา 1 ชั่วโมง เพื่อทำการวิเคราะห์ปริมาณสารตกค้างโดยใช้เครื่องแก๊สโครมาโตกราฟ (GC-FPD) พบว่าการให้ปฏิกิริยาเคมีที่ใช้แสงเป็นตัวเร่งของTiO2ร่วมกับโอโซน เป็นเวลา ที่ 50 และ 60 นาที สามารถสลายสารละลายคลอไพริฟอสได้ดีที่สุดโดยแตกต่างจากทุกชุดการทดลองอย่างเห็นได้ชัดเจน สำหรับการทดลองที่ 2 นำพริกขี้หนูสดมาแช่ในสารละลายคลอไพริฟอส เป็นเวลา 30 นาที และนำไปล้างกับชุดที่มีปฏิกิริยาเคมีที่ใช้แสงเป็นตัวเร่งของTiO2ร่วมกับโอโซน เป็นเวลา 25, 50, 75 และ 100 นาที โดยเปรียบเทียบกับการให้ปฏิกิริยาเคมีที่ใช้แสงเป็นตัวเร่งของTiO2และโอโซนอย่างเดียว พบว่าการให้เป็นเวลา 25 นาที ในทุกชุดการทดลองมีผลต่อการลดสารคลอไพริฟอสตกค้างได้โดยแตกต่างจากชุดควบคุม (น้ำกลั่น) แต่เมื่อนำมาล้างผลพริกเป็นเวลา 100 นาที จะพบว่าในชุดที่ใช้ผลร่วมของปฏิกิริยาเคมีที่ใช้แสงเป็นตัวเร่งของTiO2 กับโอโซน             มีประสิทธิภาพในการลดสารคลอไพริฟอสได้ดีที่สุดถึง 0.16 ppm โดยแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับชุดที่ใช้ปฏิกิริยาเคมีที่ใช้แสงเป็นตัวเร่งของTiO2โอโซนอย่างเดียว และชุดควบคุม ซึ่งมีสารตกค้างอยู่ 0.36, 0.27 และ 0.30 ppmตามลำดับ