ประสิทธิภาพของน้ำเลี้ยงเชื้อแอกติโนมัยซีสในการควบคุมเชื้อรา Colletotrichum sp. สาเหตุของโรคแอนแทรกโนสของพริก
พรนภา โทตรี ชาติชาย โขนงนุช และสรัญยา ณ ลำปาง
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 : 1 (พิเศษ) : 163-166 (2554)
2554
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เพื่อหาประสิทธิภาพของน้ำเลี้ยงเชื้อแอกติโนมัยซีสในการยับยั้งการเจริญของเส้นใยและการงอกของสปอร์เชื้อรา Colletotrichumgloeosporioides ซึ่งเป็นสาเหตุโรคแอนแทรกโนสของพริก พบว่า เมื่อนำเชื้อแอกติโนมัยซีสที่แยกได้จากดินบนดอยสุเทพ-ปุยจำนวน 6ไอโซเลต ได้แก่ SEA120-04, SEA120-28, SEA120-38, SEA60-34, OMA60-01และ OMA60-07 มาเลี้ยงในอาหาร enzyme production medium (EPM) ที่ 28OC เป็นเวลา 7 วัน จากนั้นทดสอบการยับยั้งการเจริญเส้นใยและการงอกของสปอร์เชื้อราด้วยวิธี agar well method โดยแบ่งน้ำเลี้ยงเชื้อแอกติโนมัยซีสเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ไม่ได้กรองเอาสปอร์ของเชื้อแอกติโนมัยซีสออก (non-culture filtrate, NF)และส่วนที่ผ่านการกรองเอาสปอร์ออก (culture filtrate, F) เปรียบเทียบกับชุดควบคุม คืออาหาร EPM พบว่า NF ของทุกไอโซเลตให้ผลการยับยั้งสูงกว่า F อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยน้ำเลี้ยงเชื้อแอกติโนมัยซีสไอโซเลต OMA60-01 ทั้ง NFและ F มีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งการเจริญเส้นใยเชื้อราเท่ากับ 56.39 และ 51.87% ตามลำดับ อีกทั้งสามารถยับยั้งการงอกของสปอร์เชื้อราได้อีกด้วย เมื่อนำ NF และ F ของ OMA60-01 มาทดสอบความสามารถในการยับยั้งโรคบนผลพริกพบว่า การแช่ผลพริกใน NFและ F เป็นเวลา 1และ 3นาทีก่อนปลูกเชื้อสาเหตุสามารถยับยั้งการเกิดโรคได้สูงถึง 80% ซึ่งไม่แตกต่างจากการใช้เชื้อ B. subtilis ที่ใช้ในเชิงการค้า จากการศึกษาคุณสมบัติบางประการของน้ำกรองเลี้ยงเชื้อแอกติโนมัยซีส (F) พบว่ากิจกรรมของเอนไซม์ไคทิเนสในน้ำกรองเลี้ยงเชื้อ OMA60-01 มีค่ากิจกรรมของเอนไซม์สูงที่สุดเท่ากับ 0.15 U/mlและเมื่อนำมาทำให้เข้มข้นขึ้นด้วยการกรองผ่าน ultrafiltration membrane พบว่าส่วนที่ไม่ผ่านการกรองซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอนไซม์ไคทิเนสยังให้ผลการยับยั้งการเจริญและการงอกของสปอร์เชื้อราเช่นเดียวกับน้ำกรองเลี้ยงเชื้อ (F)ปกติ