บทคัดย่องานวิจัย

การใช้ประโยชน์ของสตาร์ชร่วมกับสีสังเคราะห์ในการเคลือบเมล็ดพันธุ์แตงกวา

ศิวรินทร์ ธิวรรณ์ สงวนศักดิ์ ธนาพรพูนพงษ์ และ เพ็ญศิริ ศรีบุรี

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 : 1 (พิเศษ) : 353-356 (2554)

2554

บทคัดย่อ

การใช้ประโยชน์ของสตาร์ชร่วมกับสีสังเคราะห์ในการเคลือบเมล็ดพันธุ์แตงกวา

 

การเคลือบเมล็ดพันธุ์เป็นการปรับปรุงคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ ซึ่งการทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลของการใช้ชนิดสตาร์ชและสีสังเคราะห์ที่แตกต่างกันในการเคลือบเมล็ดพันธุ์แตงกวา โดยสตาร์ชมี 2 ชนิด คือ สตาร์ชมันสำปะหลังและสตาร์ชข้าวเหนียว 5, 10 และ 15% (w/v) และสีสังเคราะห์มี 2 ชนิด คือ โรดามีนบีและเมธิลีนบลู 4 % (w/v) ซึ่งมีกรรมวิธีการเคลือบทั้งหมด 12 กรรมวิธี และในแต่ละกรรมวิธีใช้อัตราส่วนของสารเคลือบต่อน้ำหนักของเมล็ดพันธุ์คือ 1.0:50, 1.5:50 และ 2.0:50 โดยมีความสม่ำเสมอของสีเคลือบบนผิวเมล็ดพันธุ์ในแต่ละกรรมวิธีมีความแตกต่างกัน แต่ที่อัตราส่วน 2.0:50 ของทุกกรรมวิธี ความสม่ำเสมอของสีที่ใช้เคลือบทั่วทั้งเมล็ด การตรวจสอบคุณภาพของเมล็ดพันธุ์หลังการเคลือบมี 2 วิธี วิธีที่หนึ่งคือ การตรวจสอบปริมาณความชื้นโดยวิธีอบด้วยลมร้อน ซึ่งพบว่า การเคลือบทำให้เมล็ดพันธุ์มีปริมาณความชื้นเพิ่มขึ้น 8.11±0.21 ถึง 9.81±0.15% วิธีที่สองคือ การตรวจสอบเปอร์เซ็นต์ความงอกโดยวิธีเพาะระหว่างกระดาษชื้นและประเมินผลการงอกในวันที่ 4 และ 8 พบว่า การเคลือบทำให้เมล็ดพันธุ์มีเปอร์เซ็นต์ความงอกลดลงเล็กน้อย โดยที่กรรมวิธีที่ 6 (สตาร์ชมันสำปะหลัง 15% และสีโรดามีนบี 4%) ของทุกอัตราส่วนมีเปอร์เซ็นต์ความงอกที่ใกล้เคียงกับเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้เคลือบ อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาการงอกของเมล็ดพันธุ์ที่เคลือบไม่แตกต่างจากเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้เคลือบ สรุปได้ว่า กรรมวิธีที่ 6 และอัตราส่วนของสารเคลือบ 2.0:50 เป็นวิธีที่ยอมรับได้ในการเคลือบเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเมล็ดพันธุ์ที่ได้มีปริมาณความชื้นและเปอร์เซ็นต์ความงอก 9.42±0.42 และ 36.22±17.91% ตามลำดับ ดังนั้นจึงควรมีการพัฒนากรรมวิธีการเคลือบเมล็ดพันธุ์แตงกวาให้ดีขึ้นกว่านี้