ช่วงเวลาการเร่งอายุที่เหมาะสมเพื่อใช้ประเมินคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวาน
บุญมี ศิริ นงนุช แสงหิน และวิทวัส ธีรธิติ
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 : 1 (พิเศษ) : 403-406 (2554)
2554
บทคัดย่อ
การทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาระยะเวลาในการเร่งอายุเมล็ดที่เหมาะสมในการประเมินคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวาน ทำการทดลองที่ห้องปฏิบัติการโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำการศึกษากับเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานพันธุ์ SCHB521 การศึกษาแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 ศึกษาคุณภาพเมล็ดหลังการเก็บรักษา โดยนำเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานทั้ง 2 พันธุ์ เก็บรักษาไว้ในห้องที่ควบคุมและไม่ควบคุมสภาพแวดล้อม สุ่มเมล็ดพันธุ์มาตรวจสอบคุณภาพในลักษณะต่างๆได้แก่ ความงอกในห้องปฏิบัติการและในสภาพไร่ และความเร็วในการงอก ทุกเดือน เป็นเวลา 8 เดือน ส่วนที่ 2 ศึกษาคุณภาพเมล็ดหลังการเร่งอายุเพื่อหาค่าการทำนายอัตราการงอกของข้าวโพดหวานหลังเก็บรักษาที่ระยะเวลาต่างๆ โดยสุ่มเมล็ดจากการทดลองในส่วนที่ 1ทุกๆเดือนมาเร่งอายุด้วยอุณหภูมิ 41 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 100 เปอร์เซ็นต์ 3 ช่วงเวลา คือ 72,96 และ120 ชั่วโมง แล้วตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ได้แก่ ความงอกในห้องปฏิบัติการและในสภาพไร่ และความเร็วในการงอก จากการศึกษาพบว่า เมื่อเร่งอายุเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานเป็นเวลา 96 ชั่วโมง ให้ค่าการทำนายด้วยสมการแม่นยำที่สุดในข้าวโพดหวานทั้ง 2 พันธุ์ และจากการประเมินความแม่นยำของสมการด้วยการหาค่า d-statistic พบว่าในการทำนายข้าวโพดหวานพันธุ์ SCHB521 เท่ากับ 0.87