ผลของสตาร์ชและสีอินทรีย์ต่อคุณภาพการเคลือบของเมล็ดพันธุ์แตงกวาและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ชนาภา นามะยอม สงวนศักดิ์ ธนาพรพูนพงษ์ และ เพ็ญศิริ ศรีบุรี
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 : 1 (พิเศษ) : 461-464 (2554)
2554
บทคัดย่อ
การเคลือบเมล็ดพันธุ์เป็นการปรับปรุงคุณภาพเมล็ดพันธุ์ก่อนนำไปเพาะปลูก การศึกษานี้ใช้สารละลายสตาร์ชมันสำปะหลัง ความเข้มข้น 5, 10 และ 15% (w/v) รวมทั้งสีโรดามีนบีและสีเมธิลีนบลู ความเข้มข้น 1% (w/v) ในการเคลือบเมล็ดพันธุ์แตงกวาและเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากนั้นนำเมล็ดพันธุ์ทั้งสองชนิดไปวิเคราะห์หาปริมาณความชื้นและพบปริมาณความชื้นสูงสุดในเมล็ดพันธุ์แตงกวาและเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เมื่อเคลือบด้วยสีโรดามีนบีและสารละลายสตาร์ช ความเข้มข้น 5% (w/v) เมื่อนำเมล็ดพันธุ์ทั้งสองชนิดไปทดสอบความงอก พบว่า เฉพาะเมล็ดพันธุ์แตงกวาและเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เคลือบด้วยสารละลายสตาร์ช ความเข้มข้น 15% ผสมสีโรดามีนบีมีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูงสุด อย่างไรก็ตาม เมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการเคลือบทุกชนิดมีความชื้นเพิ่มขึ้นและมีอัตราการงอกลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ผ่านการเคลือบ จึงสรุปได้ว่าสารละลายสตาร์ชมันสำปะหลังและสีทั้งสองชนิดมีผลต่อคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ทั้งสองชนิด