บทคัดย่องานวิจัย

การควบคุมเชื้อสาเหตุโรคหลังการเก็บเกี่ยวที่ก่อให้เกิดโรคผลเน่าของมังคุดด้วยสารสกัดจากพืชในวงศ์ขิง

เนตรนภิส เขียวขำ สมศิริ แสงโชติ และ ธัญมน สังข์ศิริ

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 (3 พิเศษ): 17-20. 2554.

2554

บทคัดย่อ

การควบคุมเชื้อสาเหตุโรคหลังการเก็บเกี่ยวที่ก่อให้เกิดโรคผลเน่าของมังคุดด้วยสารสกัดจากพืชในวงศ์ขิง

การศึกษาการเข้าทำลายของเชื้อสาเหตุในผลมังคุดจากภาคใต้ของประเทศไทย พบเชื้อรา Lasiodiplodia theobromae, Phomopsis sp., Fusarium sp., Pestalotiopsis sp., Colletotrichum gloeosporioides และ Cladosporium sp. โดยพบเชื้อเหล่านี้ที่ขั้วผล กลีบเลี้ยง ผิวผล (เปลือก) และบริเวณก้นผล (calyx) จากตัวอย่างผลมังคุดในระยะสุกแก่ ตรวจพบเชื้อรา L. theobromae ร้อยละ 45 และ 48.8 ที่บริเวณขั้วผลและที่ผิวผล ตามลำดับ และพบเชื้อรา Phomopsis sp. and Fusarium sp. ร้อยละ 60 และ 63.8 ที่บริเวณกลีบเลี้ยงและก้นผล ตามลำดับ การยับยั้งการเจริญของเชื้อราจากผลมังคุดด้วยสารสกัดหยาบจากเหง้าของพืชในวงศ์ขิง ได้แก่ ข่า (Alpinia galangal) ไพล (Zingiber montanum) ขมิ้นชัน (Curcuma longa) และ ขมิ้นอ้อย (Curcuma zedoaria) เพื่อควบคุมเชื้อสาเหตุโรคหลังการเก็บเกี่ยวของผลมังคุด พบว่าเมื่อทดสอบกิจกรรมการยับยั้งการงอกของสปอร์ของเชื้อราด้วยเทคนิควิธี microdilution สารสกัดหยาบส่วนที่ละลายในไขมัน (lipophillic phase) ของข่า มีประสิทธิภาพดีที่สุด โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ยับยั้งการเจริญ (MIC) ของเชื้อรา C. gloeosporioides และ Phomopsis sp. เท่ากับ 78 และ 2500 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ ในขณะที่สารสกัดหยาบจากไพล ขมิ้นขัน และขมิ้นอ้อยไม่แสดงคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญของเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคผลเน่าของมังคุด