บทคัดย่องานวิจัย

การตอบสนองของระยะความแก่ต่อฉายรังสีแกมมาของผลสับปะรดตราดสีทอง

อภิรดี อุทัยรัตนกิจ ผ่องเพ็ญ จิตอารีย์ ทรงศิลป์ พจน์ชนะชัย และ วาริช ศรีละออง

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 (3 พิเศษ): 69-72. 2554.

2554

บทคัดย่อ

การตอบสนองของระยะความแก่ต่อฉายรังสีแกมมาของผลสับปะรดตราดสีทอง

การฉายรังสีแกมมามีผลต่อคุณภาพของผลไม้แต่ละชนิดแตกต่างกัน นอกจากนี้ระยะความแก่ช่วงเก็บเกี่ยวมีผลต่อการพัฒนาการสุกของผล ดังนั้นงานวิจัยครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการฉายรังสีแกมมาต่อคุณภาพของสับปะรดพันธุ์ตราดสีทองที่เก็บเกี่ยวในระยะ early, mid (ระยะทางการค้า) และ late maturity แล้วนำมาตัดขั้วผลและจุ่มสารละลายโปรคลอราซ ความเข้มข้น 500 mg.kg-1ผึ่งให้แห้งแล้วนำบรรจุลงกล่องกระดาษลูกฟูกติดมุ้ง หลังจากนั้นนำไปฉายรังสีแกมมาปริมาณ 300-600 เกรย์ในวันถัดไป และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส ทำการสุ่มตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์คุณภาพทุก 3 วัน เป็นเวลา 18 วัน ผลการศึกษาพบว่า ระยะความแก่ของผลสับปะรดที่นำมาฉายรังสีแกมมามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของสับปะรด โดยสับปะรดระยะ late maturityที่ผ่านการฉายรังสีแกมมามีปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำ และปริมาณวิตามินซีมากที่สุด แต่มีค่า Hue angleน้อยที่สุดและไม่มีความแตกต่างทางสถิติกับระยะ mid maturityขณะที่สับปะรดในระยะ early maturity ที่ฉายรังสีแกมมาแสดงอาการไส้สีน้ำตาลมากที่สุดอย่างมีนัยสำคัญ โดยเริ่มแสดงอาการในวันที่ 6 ของการเก็บรักษา และสับปะรดระยะ mid และ late maturityแสดงอาการไส้สีน้ำตาลน้อยที่สุด โดยเริ่มแสดงอาการในวันที่ 9 ของการเก็บรักษา ดังนั้นระยะความแก่ของผลสับปะรดพันธุ์ตราดสีทองที่เหมาะสมต่อการฉายรังสีแกมมา คือระยะ mid และ late maturity