บทคัดย่องานวิจัย

การทดสอบเบื้องต้นของสารสกัดเปลือกมังคุดต่อการเจริญเติบโตของเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides

รัติยา พงศ์พิสุทธา ชัยณรงค์ รัตนกรีฑากุล บุชยา โพธิกิจ และ รณภพ บรรเจิดเชิดชู

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 (3 พิเศษ): 73-76. 2554.

2554

บทคัดย่อ

การทดสอบเบื้องต้นของสารสกัดเปลือกมังคุดต่อการเจริญเติบโตของเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides

มังคุด (Garcinia mangostana L.) เป็นพืชที่ใช้เป็นยาสมุนไพรมานานแล้วและสามารถใช้เป็นยารักษาโรคได้หลายชนิด ส่วนใหญ่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมามีการค้นพบว่ามังคุดนั้นมีสารแซนโทนซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มสารประกอบโพลีฟีนอล ในปริมาณค่อนข้างสูง งานวิจัยนี้เน้นการควบคุมการเจริญเติบโตของเส้นใยเชื้อราและการยับยั้งการงอกของสปอร์ Colletotrichum gloeosporioides สาเหตุโรคแอนแทรคโนสของมะม่วง โดยใช้สารสกัดจากเปลือกมังคุดในตัวทำละลายเอทธิลแอลกอฮอล์ 95%ชั่งสารสกัดน้ำหนัก 500 มิลลิกรัม มาละลายในเอทธิลแอลกอฮอล์ 40 และ 60 %นำสารสกัดที่ละลายในแอลกอฮอล์แล้วปริมาตร 2 มิลลิลิตร ผสมในอาหาร potato dextrose agar (PDA) ปริมาตร 18 มิลลิลิตร เพื่อประเมินบทบาทของสารสกัดต่อการเจริญของเส้นใยเชื้อรา พบว่าหลังการปลูกเชื้อบนอาหาร 7 วัน  การเจริญของเส้นใยถูกยับยั้งโดยมีอัตราการยับยั้ง34.01 และ 47.30% ตามลำดับ ซึ่งมีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ (LSD = 4.19, P=0.05) ขณะที่การจุ่มชิ้นวุ้นที่มีสปอร์ในสารสกัดที่ละลายด้วยเอทธิลแอลกอฮอล์ 40% ให้ผลในการควบคุมการงอกของสปอร์ได้ดีที่สุดที่อัตราของสารละลายต่อน้ำ 1:4 ผลการทดลองนี้แสดงให้เห็นว่าการใช้เอทธิลแอลกอฮอล์สกัดสารจากเปลือกมังคุดทำให้ได้สารประกอบที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นสารที่ต่อต้านเชื้อราบนอาหารเลี้ยงเชื้อได้ หากนำไปพัฒนาใช้กับผลไม้อาจช่วยควบคุมการเกิดโรคบนผลได้เช่นกัน