บทคัดย่องานวิจัย

การเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในพืช ดิน น้ำ และคุณภาพของผลิตภัณฑ์วัตถุมีพิษทางการเกษตร

ณัฐนัย ตั้งมั่นคงวรกูล และ เนาวรัตน์ ตั้งมั่นคงวรกูล

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 (3 พิเศษ): 121-124. 2554.

2554

บทคัดย่อ

การเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในพืช ดิน น้ำ และคุณภาพของผลิตภัณฑ์วัตถุมีพิษทางการเกษตร

จากการศึกษาชนิดและปริมาณสารพิษตกค้างในพืชผักผลไม้ที่ผ่านการรับรองระบบ GAP จากพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยในช่วงเดือนตุลาคม 2550-เดือนกันยายน 2552  โดยเก็บตัวอย่างจากแปลงปลูก  (100 ตัวอย่าง) แหล่งรวบรวมผลผลิต (50 ตัวอย่าง) และแหล่งจำหน่าย (50 ตัวอย่าง) ทำการวิเคราะห์ด้วยวิธีที่ดัดแปลงจาก Steinwandtern (1985) ร่วมกับการใช้เทคนิคแก๊สโครมาโทกราฟี เพื่อหาชนิดและปริมาณการตกค้างของสารพิษ 3 กลุ่ม ได้แก่ ออร์แกโนฟอสเฟต (23 ชนิด), ออร์แกโนคลอรีน (3 ชนิด)และไพรีทรอยด์ (6 ชนิด) ซึ่งผลจากการศึกษาตัวอย่างพืชจำนวน 34 ชนิดที่เก็บจากแปลงปลูกพืช (20 ชนิด), แหล่งรวบรวมผลผลิต (13 ชนิด) และแหล่งจำหน่าย(23 ชนิด) พบสารตกค้างคิดเป็น 17, 19 และ 19% ของตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ โดยพืชที่พบการตกค้างในทุกตัวอย่าง ได้แก่ แตงโมน้อยหน่าบีทรูทผักกาดฮ่องเต้มะเฟืองเมล่อนญี่ปุ่น และส้ม สารพิษตกค้างที่พบบ่อย ได้แก่ chlorpyrifos, ethion, malathion, cypermethrin, profenofos, EPN, triazophos , dimethoate, diazinon ตามลำดับ โดยสรุปแล้วยังคงมีการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรอยู่สม่ำเสมอในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ดังนั้นรัฐบาลจึงควรอบรมให้เกษตรกรเข้าใจถึงความเหมาะสมของปริมาณสารที่ใช้, ระยะเวลาการเก็บเกี่ยว ผลกระทบจากการใช้อย่างไม่ถูกต้อง