บทคัดย่องานวิจัย

การวิเคราะห์คุณภาพมะละกอแขกดำเพื่อการบริโภคด้วย Near Infrared Spectroscopy

รณฤทธิ์ ฤทธิรณ สโรชา ทองด่านอุดม ลลิต์ภัทร รัตอาภา และสุรีพร ณรงค์วงศ์วัฒนา

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 (3 พิเศษ): 141-144. 2554.

2554

บทคัดย่อ

การวิเคราะห์คุณภาพมะละกอแขกดำเพื่อการบริโภคด้วย Near Infrared Spectroscopy

คุณภาพของมะละกอแขกดำที่ส่งไปยังตลาดระดับบน กำหนดให้มีค่าความหวานประมาณ 10% brix มีสีเนื้อเป็นสีแดงไม่เหลือง และมีความแน่นเนื้อที่เหมาะสมต่อการบริโภค ซึ่งวิธีการตรวจหาคุณสมบัติดังกล่าวผู้ประเมินจะทำการสุ่มตัวอย่างมาทำลายเพื่อประเมินคุณภาพภายในโดยใช้สายตา การสัมผัส และประสบการณ์ ซึ่งเป็นการอิงอยู่กับความคิดส่วนบุคคลหรือเป็นการวิเคราะห์เชิงอัตวิสัยทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนสูง  และสินค้ามีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ ด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบการจึงต้องการหาเกณฑ์คุณภาพเป็นค่าตัวเลขที่แน่นอน หรือเป็นการวิเคราะห์เชิงภาวะวิสัยและไม่ทำลายตัวอย่าง การวิเคราะห์คุณภาพแบบไม่ทำลายสามารถสร้างขึ้นจากความสัมพันธ์ของคุณภาพภายในกับการดูดกลืนพลังงานย่านใกล้อินฟราเรดที่วัดได้จากเครื่อง Near Infrared (NIR) spectrometer แบบพกพา ในระบบการวัดแบบสะท้อนกลับ ใช้ช่วงความยาวคลื่น  600 – 1050 นาโนเมตร จากผลการวิเคราะห์พบว่า มะละกอแขกดำที่มีคุณภาพต้องมีค่าสี a* มากกว่าหรือเท่ากับ 19 และมีความหวานมากกว่า 9%brix สำหรับการตรวจสอบแบบไม่ทำลายด้วยเทคนิค NIR พบว่า สามารถวิเคราะห์คุณภาพได้อย่างถูกต้อง ไม่แตกต่างจากค่าจริงที่วิเคราะห์ด้วยวิธีดั้งเดิมที่ระดับความเชื่อมั่น 95%โดยมีค่า Correlation coefficient (R) = 0.87 ,Standard  Error  of  Calibration (SEC) = 0.64 %brix , Standard  Error of Prediction (SEP) = 0.8 %brix  และค่าผิดพลาดเฉลี่ย (Bias) = 0.06 %brix สำหรับสมการเทียบมาตรฐานทำนายความหวาน และ R = 0.80, SEC = 3.01, SEP = 3.31 และ Bias = 0.029 สำหรับสมการเทียบมาตรฐานทำนายค่าสี a*