บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาเบื้องต้นการประเมินการรมควันและการตกค้างของ SO2 ในลำไยสดเขตภาคเหนือ

สมเพชร เจริญสุข วิทยา อภัย และเกรียงศักดิ์ นักผูก

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 (3 พิเศษ): 153-156. 2554.

2554

บทคัดย่อ

การศึกษาเบื้องต้นการประเมินการรมควันและการตกค้างของ SO2 ในลำไยสดเขตภาคเหนือ

การทดลองร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อศึกษาความสม่ำเสมอของความเร็วลมที่ไหลผ่านระหว่างชั้นตะกร้าและพาเลทของโรงรมและการตกค้างSO2 ในผลลำไยเขตภาคเหนือของโรงรมควันในระดับการค้าด้วยวิธีการเผาผงกำมะถันที่มีระบบหมุนเวียนอากาศ 3 แบบ       (การทดลอง) ได้แก่ 1) โรงรมที่ห้องรมใช้มอเตอร์ขนาด ¼ แรงม้าในการดูดและหมุนเวียนแก๊ส SO2 ผ่านท่อเจาะรูที่ติดตั้งรอบห้องรมควัน  2) โรงรมที่ห้องรมใช้พัดลมขนาดØ12 นิ้ว ติดตั้งจำนวน 1 ตัว ที่ประตู้ห้องรมควัน และ 3) โรงรมที่ห้องรมใช้พัดลมขนาด  Ø12 นิ้ว ติดตั้งจำนวน  2 ตัว ที่ตำแหน่งด้านบนห้องรมควัน โดยเริ่มจากการเปิดระบบการหมุนเวียนอากาศในห้องรมที่เรียงตะกร้าเปล่าไว้ จากนั้นวัดความเร็วลมที่ไหลผ่านชั้นตะกร้าและพาเลทด้วยเครื่องมือวัดความเร็วของอากาศแบบ Hot  wire probe จากนั้นทดสอบการรมควันด้วยวิธีการเผาผงกำมะถันโดยใช้อัตราแนะนำตามตารางการใช้กำมะถันของระบบ GMP สำหรับโรงคัดบรรจุ เมื่อเสร็จสิ้นขบวนการรมควัน ทำการสุ่มผลลำไยในตะกร้าทุกชั้น และสุ่มระหว่างพาเลท นำไปวิเคราะห์หาค่าตกค้าง SO2 ทันที  ผลการทดลองพบว่า การตกค้างของ SO2 ในผลลำไยมีแนวโน้มมีค่าสูงสุดเฉพาะตะกร้าที่อยู่ชั้นบนสุดของทุกโรงรม ส่วนค่าความเร็วลม พบว่า โรงรมที่ 1 มีค่าความเร็วลมเฉลี่ยต่ำสุด และสูงขึ้นเฉพาะตะกร้าชั้นบนสุดตำแหน่งที่อยู่ใกล้ท่อปล่อยแก๊ส ขณะที่โรงรมที่ 2 และที่ 3 มีความเร็วลมเฉลี่ยสูงที่สุด   ห้องรมของโรงรมทั้งสามแบบยังคงมีความเร็วลมและการตกค้างแต่ละพาเลทไม่สม่ำเสมอ จึงยังสรุปไม่ได้ว่าห้องรมแบบใดมีความเหมาะสมที่สุด แต่อย่างไรก็ตามค่าการตกค้างในเนื้อผลทั้งสามโรงรมไม่เกินค่ามาตรฐาน 50 mg/kg