เชื้อรา Leptoxyphium kurandae Crous & R.G. Shivas สาเหตุโรคปื้นดำของลองกอง
ธัญมน สังข์ศิริ และ สมศิริ แสงโชติ
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 (3 พิเศษ): 188-191. 2554.
2554
บทคัดย่อ
โรคปื้นดำของผลลองกอง (Aglaia dookkoo Griff.) เป็นโรคที่เป็นปัญหากับการผลิตลองกองเพื่อการส่งออก เนื่องจากโรคนี้ทำให้ผิวผลมีรอยปื้นดำ ไม่เป็นที่ยอมรับของประเทศผู้นำเข้า จึงศึกษาการจำแนกชนิดของเชื้อราสาเหตุทางด้านสัณฐานวิทยาและชีวโมเลกุล พบว่าเกิดจากเชื้อรา Leptoxyphium kurandae Crous & R.G. Shivasซึ่งยังไม่เคยมีรายงานในประเทศไทย โดยที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและลำดับนิวคลีโอไทด์มีความเหมือนกับเชื้อรา Leptoxyphium madagascariense และ melanized fungi ที่แยกได้จากหินปูน 97 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งโคนิเดียของเชื้อรา L. kurandae มีรูปร่างเป็นทรงกระบอก ใส ไม่มีสี เซลล์เดียว อยู่รวมกันเป็นกลุ่มคล้ายหยดน้ำสีขาวที่ส่วนปลายของ synnemata จากการสำรวจเชื้อราสาเหตุโรคปื้นดำบนผลลองกองในจังหวัดจันทบุรี สุโขทัย และนครศรีธรรมราช พบว่าโคนิเดียมีขนาด 2.25-3.00 µm × 4.50-6.25 µm 1.94-3.24 µm x 4.10-7.18 µm และ 1.9-4.08 µm x 3.81-6.38 µm และ synnemata มีความสูง 51.50-503.16 µm 72.50-295.41 µm 126.26-903.44 µmตามลำดับ โดยความกว้างโคนิเดียไม่มีความแตกต่างทางสถิติ แต่ความยาวโคนิเดียของเชื้อที่ได้จากจังหวัดนครศรีธรรมราชมีขนาดสั้นที่สุด และ synnemata มีความสูงที่สุด