บทคัดย่องานวิจัย

ประสิทธิภาพของสารป้องกันกำจัดเชื้อราบางชนิดที่มีต่อชนิดของเชื้อราก่อโรคแอนแทรกโนสของมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจากสวนมะม่วงอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ในระยะหลังเก็บเกี่ยว

ปริญญา จันทรศรี พิเชษฐ์ น้อยมณี และรัฐพล พรประสิทธิ์

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 (3 พิเศษ): 192-195. 2554.

2554

บทคัดย่อ

ประสิทธิภาพของสารป้องกันกำจัดเชื้อราบางชนิดที่มีต่อชนิดของเชื้อราก่อโรคแอนแทรกโนสของมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจากสวนมะม่วงอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ในระยะหลังเก็บเกี่ยว

เชื้อราColletotrichum spp. 2 ชนิด (C. acutatum และC. gloeosporioides) ถูกจำแนกว่าเป็นเชื้อราก่อโรคแอนแทรกโนสที่สำคัญในสวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองของแหล่งปลูกอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งแยกได้จากตัวอย่างใบและผลมะม่วงที่เป็นโรค เมื่อนำมาปลูกเชื้อเพื่อทดสอบความสามารถในการก่อให้เกิดโรคกับผลมะม่วงพบว่าสามารถก่อให้เกิดอาการแผลสีน้ำตาลดำและกลุ่มสปอร์หลังปลูกเชื้อภายในเวลา 7 วัน สารป้องกันกำจัดเชื้อราประเภทดูดซึม 3 ชนิดได้แก่ คาร์เบนดาร์ซิม โปรคลอราซ และอะซ็อกซี่สโตรบินและประเภทสัมผัส 2 ชนิดได้แก่ คอปเปอร์ อ็อกซี่คลอไรด์และแมนโคเซ็บ ได้นำมาทดสอบประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญเส้นใยของเชื้อราในห้องปฏิบัติการด้วยวิธีผสมในอาหารเลี้ยงเชื้อและการจุ่มผลมะม่วง พบว่าสารป้องกันประเภทดูดซึม 2 ชนิดคือโปรคลอราซ และอะซ็อกซี่สโตรบิน มีประสิทธิภาพดีที่สุดในการยับยั้งการเจริญทางเส้นใยได้ที่ระดับความเข้มข้น 50 และ 100 พีพีเอ็ม ตามลำดับ โดยที่โปรคลอราซสามารถยับยั้งเชื้อรา C. acutatum และC. gloeosporioides  ได้ 100%โดยปราศจากการเจริญของเส้นใย การใช้น้ำร้อนร่วมกับสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราแช่ผลมะม่วงสามารถช่วยลดการเกิดโรคแอนแทรกโนสหลังการเก็บเกี่ยวที่ 25 ± 2°เซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 95% นาน  21 วัน ดังนั้นการใช้สารโปรคลอราซและอะซ็อกซี่สโตรบินที่ระดับความเข้มข้นต่ำสุดที่ 50 และ 100 พีพีเอ็ม ให้ผลในการยับยั้งเชื้อราC. acutatum และC. gloeosporioides  ได้ดีที่สุด ตามลำดับ