บทคัดย่องานวิจัย

ประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides ของฟิล์มบริโภคได้จากผงบุกผสมสารสกัดจากสมุนไพรไทย

จุพาพันธุ์ รัตนนิล ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล และ รชา เทพษร

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 (3 พิเศษ): 196-199. 2554.

2554

บทคัดย่อ

ประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides ของฟิล์มบริโภคได้จากผงบุกผสมสารสกัดจากสมุนไพรไทย

เชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides เป็นสาเหตุของโรคแอนแทรคโนสที่มักพบบนผลมะม่วงน้ำดอกไม้ระหว่างการเก็บรักษาหลังจากการเก็บเกี่ยว งานวิจัยนี้จึงสนใจศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดจากสมุนไพรไทยวงศ์ขิง3 ชนิด คือ กระชาย ข่า และ ขิง สกัดด้วยตัวทำละลาย 2 ชนิด คือ เอทานอล และน้ำกลั่น เพื่อยับยั้งการเจริญของเชื้อรา C. gloeosporioides พบว่าสารสกัดจากสมุนไพรทุกชนิดในทุกตัวทำละลาย มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อราที่นำมาทดสอบ โดยสารสกัดจากกระชายและข่าที่สกัดด้วยเอทานอลมีค่าความเข้มข้นต่ำที่สุดที่สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ (MIC) และค่าความเข้มข้นต่ำที่สุดที่สามารถทำลายเชื้อ (MFC)ที่ดีที่สุดต่อเชื้อราดังกล่าวเท่ากัน (MIC = 2,500 µg/mlและ MFC = 2,500 µg/ml) เมื่อนำสารสกัดจากสมุนไพรที่เลือก (กระชาย และ ข่า ที่สกัดด้วยเอทานอล) มาผสมในฟิล์มบุกที่ระดับความเข้มข้น 2,500 - 30,000 µg/mlและศึกษาผลการต้านเชื้อราของสารละลายบุกและแผ่นฟิล์มบุก โดยพิจารณาจากการเกิดบริเวณยับยั้ง (clear zone) พบว่าสารละลายบุกที่ผสมสารสกัดจากกระชาย และ ข่า ความเข้มข้น 10,000 µg/mlเป็นความเข้มข้นต่ำที่สุดที่เกิดบริเวณยับยั้ง ส่วนการยับยั้งของแผ่นฟิล์ม พบว่าฟิล์มบุกผสมสารสกัดจากข่าที่ความเข้มข้น 10,000 µg/mlเป็นความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อรา ในขณะที่ฟิล์มบุกผสมสารสกัดจากกระชายความเข้มข้น 20,000 µg/mlเป็นความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราได้