บทคัดย่องานวิจัย

ผลกระทบร่วมของกรดและไคโทซานต่อสีเปลือกของผลลิ้นจี่พันธุ์จักรพรรดิ์

ปานฉัตร วงค์ไชยยา เจิมขวัญ สังข์สุวรรณ และ นิธิยา รัตนาปนนท์

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 (3 พิเศษ): 200-203. 2554.

2554

บทคัดย่อ

ผลกระทบร่วมของกรดและไคโทซานต่อสีเปลือกของผลลิ้นจี่พันธุ์จักรพรรดิ์

การรักษาสีแดงที่เปลือกของผลลิ้นจี่พันธุ์จักรพรรดิ์โดยการจุ่มในสารละลายกรดอินทรีย์ 2 ชนิด คือ กรดซิตริกความเข้มข้น2.0%กรดเพอร์ออกซีซิตริกความเข้มข้น0.5%หรือ0.8% หรือสารละลายกรดดังกล่าวที่มีไคโทซานความเข้มข้น 0.5%ละลายอยู่ด้วย เปรียบเทียบกับชุดควบคุมที่จุ่มในน้ำกลั่นและไม่จุ่มในน้ำกลั่น เป็นเวลา 30วินาที บรรจุผลลิ้นจี่10ผลต่อชุดการทดลองลงในถุงพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (Fresh & FreshModel 3: FF3) ขนาด กว้าง × ยาว เท่ากับ    5 × 7.5 นิ้ว เก็บรักษาที่อุณหภูมิ5±1องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90-95% เป็นเวลา 30 วัน สุ่มตัวอย่างมาวิเคราะห์คุณภาพทุกๆ 5วัน เพื่อวิเคราะห์สมบัติทางกายภาพและทางเคมีของเปลือก ผลการทดลองพบว่าสารละลายกรดทั้ง 2 ชนิดไม่มีผลต่อค่าพีเอชของเปลือกผลลิ้นจี่ การจุ่มผลลิ้นจี่ในสารละลายกรดสามารถป้องกันการเกิดสีน้ำตาลที่เปลือกได้ดีกว่าชุดควบคุมเมื่อเก็บรักษาเป็นเวลา 20วัน และสารละลายกรดซิตริกความเข้มข้น2.0%มีประสิทธิภาพในการชะลอการเกิดสีน้ำตาลที่เปลือกผลลิ้นจี่ได้ดีที่สุด