ผลของน้ำตาล ซูโครส และ ทรีฮาโลส ต่อคุณภาพและอายุปักแจกันของดอกกล้วยไม้หวายสายพันธุ์ยูนานและมิสทีน
ณัฐกฤตา แก้วคำ มัณฑนา บัวหนอง ผ่องเพ็ญ จิตอารีย์รัตน์ อภิรดี อุทัยรัตนกิจ และ วาริช ศรีละออง
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 (3 พิเศษ): 244-247. 2554.
2554
บทคัดย่อ
การศึกษาผลของน้ำตาลซูโครส และทรีฮาโลส ต่อการยืดอายุการปักแจกันของช่อดอกกล้วยไม้สกุลหวาย 2สายพันธุ์ ได้แก่ มิสทีน และยูนาน โดยนำไปปักในน้ำกลั่น (ชุดควบคุม) และปักในน้ำตาลซูโครสความเข้มข้น 1 และ 2%ร่วมกับ 8- hydroxyquinoline sulfate (8 - HQS) ความเข้มข้น 200 มิลลิกรัมต่อลิตร และน้ำตาลทรีฮาโลสความเข้มข้น 1 และ 2 % ร่วมกับ 8- HQS ความเข้มข้น 200 มิลลิกรัมต่อลิตร วางไว้ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70 – 80 %ตลอดระยะเวลาการทดลอง พบว่า ดอกกล้วยไม้สกุลหวายพันธุ์มีสทีนที่ปักในน้ำตาลทรีฮาโลส ความเข้มข้น 2% ร่วมกับ 8- HQS ความเข้มข้น 200 มิลลิกรัมต่อลิตร และ ดอกกล้วยไม้สกุลหวายพันธุ์ยูนานที่ปักในน้ำตาลซูโครสความเข้มข้น 2% ร่วมกับ 8- HQS ความเข้มข้น 200 มิลลิกรัมต่อลิตร มีอายุการปักแจกัน เท่ากับ 27.2และ 28.8วัน ตามลำดับซึ่งนานกว่าชุดทดลองอื่นๆ โดยทรีทเมนต์ดังกล่าวสามารถชะลอการเสื่อมสภาพของดอก การเหี่ยวของดอก การหลุดร่วงของดอก และทำให้การบานของดอกตูมเพิ่มขึ้น จากผลการทดลอง พบว่า ความแตกต่างของสายพันธุ์ดอกกล้วยไม้สกุลหวายมีผลต่ออายุการปักแจกันของดอกกล้วยไม้อย่างมีนัยสำคัญยิ่ง (p≤0.01) โดยช่อดอกกล้วยไม้สายพันธุ์มิสทีนที่ปักในน้ำตาลซูโครสความเข้มข้น 1 และ 2%ร่วมกับ 8- HQS ความเข้มข้น 200 มิลลิกรัมต่อลิตร และน้ำตาลทรีฮาโลสความเข้มข้น 1 และ 2 % ร่วมกับ 8- HQS ความเข้มข้น 200 มิลลิกรัมต่อลิตร มีอายุการปักแจกันนานกว่าชุดควบคุม 2.9 3.9 5.1 และ 5.3 วัน ตามลำดับ ในขณะที่สายพันธุ์ยูนาน มีอายุการปักแจกันนานกว่าชุดควบคุม 6.4 11.4 7.4 และ 10.6 วัน ตามลำดับ