บทคัดย่องานวิจัย

ลักษณะภายนอกและกายวิภาคของเปลือกส้มเขียวหวานพันธุ์สายน้ำผึ้งที่แสดงอาการสะท้านหนาว

ปาริชาติ แสงทอง เสาวลักษณ์ อุ่นเป็ง และ อุษาวดี ชนสุต

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 (3 พิเศษ): 327-330. 2554.

2554

บทคัดย่อ

ลักษณะภายนอกและกายวิภาคของเปลือกส้มเขียวหวานพันธุ์สายน้ำผึ้งที่แสดงอาการสะท้านหนาว

เมื่อนำส้มสายน้ำผึ้งที่ระยะแก่ทางการค้าบรรจุลงในกล่องกระดาษลูกฟูกและเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 0 และ 3 องศาเซลเซียส นาน 1 เดือน สุ่มตัวอย่างสัปดาห์ละ 1 กล่อง แล้วนำมาวางไว้ที่อุณหภูมิห้อง(25±2 องศาเซลเซียส)นาน 12 วัน เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงลักษณะภายนอกและกายวิภาคของเปลือกส้มสายน้ำผึ้งทุกๆ 3 วัน พบว่า ส้มสายน้ำผึ้งที่เก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 3   องศาเซลเซียส แสดงอาการสะท้านหนาวเมื่อเก็บไว้นานกว่า 2 สัปดาห์ และอาการจะรุนแรงขึ้นหลังจากวางไว้ที่อุณหภูมิห้องนานกว่า 3วัน โดยอาการที่พบบนเปลือกส้มได้แก่ เปลือกส้มเปลี่ยนสี ต่อมน้ำมันขยายตัว เปลือกยุบตัวเป็นจุด เกิดจุดสีน้ำตาลกระจัดกระจาย บางตำแหน่งมีการขยายขนาดรวมตัวกันเป็นแผ่นสีน้ำตาลที่ยุบตัวลง มีการเข้าทำลายของเชื้อรา จากการศึกษาภาคตัดขวางของเปลือกส้มบริเวณที่เกิดอาการสะท้านหนาว พบว่า เซลล์เยื่อบุผิวด้านนอกของชั้น flavedoและ เซลล์พาเรงคิมาบริเวณชั้น albedoเซลล์ถูกทำลายทำให้เกิดการยุบตัวของเนื้อเยื่อในชั้นดังกล่าว  เนื้อเยื่อพาเรงคิมาบริเวณต่อมน้ำมันเกิดการสลายตัวและเกิดอาการต่อมน้ำมันแตก (oleocellosis) เซลล์บริเวณที่เสียหายเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และสอดคล้องกับปริมาณสารอิเล็กโทรไลต์ที่รั่วไหลมากขึ้นเมื่อเปลือกส้มแสดงอาการสะท้านหนาว