บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาอัตราการรั่วไหลของก๊าซฟอสฟีนจากโครงสร้างผ้าคลุมรมยา polyvinyl chloride (PVC) ที่มีความหนาต่างกัน

ธีรเดช เดชทองจันทร์ วัชรพล ชยประเสริฐ และ เอนก สุขเจริญ

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 (3 พิเศษ): 485-488. 2554.

2554

บทคัดย่อ

การศึกษาอัตราการรั่วไหลของก๊าซฟอสฟีนจากโครงสร้างผ้าคลุมรมยา polyvinyl chloride (PVC) ที่มีความหนาต่างกัน

การศึกษาในระดับห้องปฏิบัติการได้แสดงให้เห็นว่าอัตราการซึมผ่าน(diffusion) ของก๊าซฟอสฟีนผ่านผ้าคลุม polyvinyl chloride (PVC) มีความสัมพันธ์แบบผกผันกับความหนาของผ้าคลุม  อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติโครงสร้างการรมที่สร้างจากผ้าคลุม PVC ไม่สามารถถูกสร้างให้มีการซีลได้ 100%  ดังนั้นอัตราการรั่วไหลของก๊าซในระหว่างการรมยายังขึ้นอยู่กับคุณภาพการซีล (sealing quality) ของโครงสร้างการรมและสภาวะอากาศในระหว่างการรมยา  งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบอัตราการรั่วไหลของก๊าซฟอสฟีนจากโครงสร้างผ้าคลุม PVC ภายใต้เงื่อนไขการทดลองที่คล้ายกับการรมยาในทางปฏิบัติ  โครงสร้างการรมสร้างจากผ้าคลุม PVC ให้มีปริมาตร 1 m3 และตั้งอยู่ภายในอาคารกึ่งเปิดมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก  ใช้ผ้าคลุม PVC ที่ความหนา 0.05, 0.1 และ 0.2 mm  ทำการทดสอบความดัน (pressurization test) ก่อนการรมยาทุกครั้งเพื่อปรับให้ความมิดชิด (air-tightness) ของโครงสร้างผ้าคลุมทั้ง 3 ความหนามีค่าใกล้เคียงกัน  ทำการทดลองรมยา 6 ครั้งโดยแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 7 วัน  ในแต่ละการรมยาค่า pressure half-life (PHL) ของโครงสร้างการรมของผ้าคลุมทั้ง 3 ความหนามีค่า แตกต่างกันสูงสุดไม่เกิน 19 s  แนวโน้มโดยทั่วไปของผลการทดลองคือที่ผ้าคลุมความหนาเดียวกันค่า half-loss time (HLT) มีค่าเพิ่มขึ้นเมื่อ PHL มีค่าเพิ่มขึ้น และที่ระดับ PHL ใกล้เคียงกันเมื่อเปรียบเทียบระหว่างผ้าคลุมความหนาแตกต่างกันค่า HLT มีแนวโน้มแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย  งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าในรูปแบบการรมยาเชิงปฏิบัติผ้าคลุมรมยาที่มีความหนา 0.05, 0.1 และ 0.2 mmมีความสามารถในการเก็บกับก๊าซฟอสฟีนได้ใกล้เคียงกันและปัจจัยสำคัญที่มีกระทบต่ออัตราการรั่วไหลของก๊าซฟอสฟีนระหว่างการรมยาคือคุณภาพการซีลของโครงสร้างการรม