การเปรียบเทียบวัสดุกันกระแทกสำหรับกะหล่ำปลีระหว่างการวางจำหน่ายและขนส่ง
ศุภกิตต์ สายสุนทร และ ปัณณธร ภัทรสถาพรกุล
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 (3 พิเศษ): 620-624. 2554.
2554
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้เพื่อเปรียบเทียบความสามารถของวัสดุกันกระแทกในการป้องกันความเสียหายเชิงกลสำหรับกะหล่ำปลีในระหว่างการวางจำหน่ายและการขนส่ง ใช้กะหล่ำปลีพันธุ์ลูกผสม F1 ที่แกะใบแก่ออกแล้วและยังไม่แกะใบแก่ออก เป็นตัวอย่างสำหรับการทดสอบ วิธีการทดสอบประกอบด้วย 1) การทดสอบการกระแทกโดยการปล่อยให้ตกอย่างอิสระที่ความสูง 3 ระดับ และ 2) การทดสอบการสั่นสะเทือนในสภาวะการขนส่งจริงเป็นระยะทาง 300 กม.วัสดุกันกระแทกที่เลือกมาศึกษาประกอบด้วย ฟิล์มยืด โฟมตาข่าย แผ่นพลาสติกกันกระแทก ถุงพลาสติก และเข่งหวายสาน ผลการทดสอบพบว่า 1) วัสดุกันกระแทกที่เหมาะสมในการป้องกันความเสียหายเชิงกลสำหรับการวางจำหน่ายได้แก่ แผ่นพลาสติกกันกระแทกเมื่อประเมินความสามารถในการป้องกันความเสียหายโดยใช้ค่าความต้านการช้ำจากกราฟพลังงานกระแทก-น้ำหนักใบช้ำ และ 2) รูปแบบและวัสดุกันกระแทกที่เหมาะสมในการป้องกันความเสียหายเชิงกลสำหรับการขนส่งได้แก่ กะหล่ำปลีที่แกะใบแก่ออกแล้วหุ้มด้วยโฟมตาข่ายขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 มม. และบรรจุในถุงพลาสติกเมื่อประเมินความสามารถของวัสดุกันกระแทกและรูปแบบการห่อหุ้มโดยใช้เปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้ำหนัก และจำนวนใบที่ต้องแกะทิ้ง ซึ่งมีค่าเท่ากับ 5.09%และ 0.6 ใบ ตามลำดับ