การเปลี่ยนแปลงคุณภาพของผลลองกองระหว่างการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำและการดัดแปลงสภาพบรรยากาศในบรรจุภัณฑ์
อัญชลี ศิริโชติ บุปผา จองปัญญาเลิศ ศุภชัย ภิสัชเพ็ญ อดิเรก รักคง สุภาณี ชนะวีรวรรณ และ ชัยรัตน์ พึ่งเพียร
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 (3 พิเศษ): 625-628. 2554.
2554
บทคัดย่อ
การศึกษาอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเก็บรักษาผลลองกอง โดยนำช่อผลลองกองอายุ 13-14สัปดาห์หลังดอกบาน ตัดแต่งเป็นลองกองผลเดี่ยว บรรจุ 6 ผล ในถาด polypropylene (PP)ขนาด 135.0×187.0×36.0 มม. ร่วมกับสารดูดซับเอทิลีน 1 ซอง (3 ก./ซอง) ปิดถาดด้วยฟิล์ม polyvinyl chloride (PVC)เก็บรักษาที่ 15±1 และ 18±1°C เป็นเวลา 12 วัน พบว่า ผลลองกองที่ 15±1 และ 18±1°C เก็บรักษาได้นาน 9 และ 6 วัน ตามลำดับ เมื่อศึกษาจำนวนผลลองกองต่อถาดและการดัดแปลงสภาพบรรยากาศในบรรจุภัณฑ์ โดยบรรจุผลลองกอง 6 หรือ 8 ผล ในถาดเช่นเดียวกับข้างต้น ดัดแปลงสภาพบรรยากาศซึ่งมีส่วนผสมของแก๊ส 5%CO2:5%O2:90%N2 ปิดถาดด้วยฟิล์ม polyethylene terephthalate/polypropylene(PET/PP)เปรียบเทียบกับชุดควบคุม เก็บรักษาที่ 15±1°C เป็นเวลา 9 วัน พบว่า ผลลองกอง 8 ผล/ถาด มีค่าการสูญเสียน้ำหนักต่ำกว่าการบรรจุ 6 ผล/ถาด (p<0.05) เมื่อเก็บรักษาในช่วง 6-9 วัน เกิดการเปลี่ยนแปลงของเปลือกเป็นสีน้ำตาล ยกเว้นผลลองกองชุดควบคุม 6 ผล/ถาด ซึ่งมีค่าความสว่าง (L*) ของเปลือกไม่แตกต่างจากวันที่ 0 ส่วนชุดการทดลองอื่นมีค่า L* ลดลง 22-26% CO2ที่สะสมในบรรจุภัณฑ์มีบทบาทสำคัญต่อคุณภาพของผลลองกอง ปริมาณของแข็งที่ละลายได้ทั้งหมดและกรดที่ไทเทรตได้ในทุกชุดการทดลองมีแนวโน้มลดลง (p<0.05) งานวิจัยนี้พบว่า ผลลองกอง 6 ผล ในถาดที่ปิดด้วยฟิล์ม PET/PPไม่ใช้เทคนิคการดัดแปลงสภาพบรรยากาศในบรรจุภัณฑ์ (MAP)เก็บรักษาได้นานอย่างน้อย 9 วัน ซึ่งนานกว่าชุดการทดลองอื่น การศึกษาการปรับปรุงคุณภาพการเก็บรักษาผลลองกองต่อไปควรคำนึงถึงการลดปริมาณแก๊ส CO2 ในบรรจุภัณฑ์