การศึกษาศักยภาพของการประยุกต์ใช้ซีโอไลต์เป็นบรรจุภัณฑ์แอคทีฟสำหรับกล้วยหอมทอง
วรพิณ ศรีใจอินทร์ และ ดำรงพล คำแหงวงศ์
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 (3 พิเศษ): 641-644. 2554.
2554
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้คือการศึกษาประสิทธิภาพของการใช้สารดูดซับเอทิลีนได้แก่ ซีโอไลต์ Ca-5Aซีโอไลต์ Na-4Aและสารดูดซับเอทิลีนที่ใช้ในการค้า(KMnO4) โดยศึกษาคุณลักษณะทางกายภาพและองค์ประกอบทางเคมีโดยใช้เครื่อง scanning electron microscopic (SEM) และ X-rayFluorescence Spectrometer(XRF, MESA- 500) และศึกษาประสิทธิภาพของการกำจัดก๊าซเอทิลีนที่ระดับความเข้มข้นเริ่มต้นของเอทิลีน 800 ppmด้วยเครื่องวิเคราะห์ก๊าซโครมาโตกราฟี และศึกษาศักยภาพของการประยุกต์ใช้สารดูดซับเอทิลีนเป็นสารที่ช่วยลดการสะสมของก๊าซเอทิลีน ลดอัตราการหายใจ และชะลอการเปลี่ยนแปลงคุณภาพทางด้านเคมีและกายภาพของกล้วยหอมทอง (ที่ระยะสุกแก่ร้อยละ 70 -80 เก็บรักษาในกล่องกระดาษลูกฟูก ที่อุณหภูมิห้อง) ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าซีโอไลต์ Ca-5Aที่บรรจุในถุงพลาสติกพอลิเอทิลีนขนาดเล็กมีอัตราการดูดซับเอทิลีนได้ใกล้เคียงกับสารดูดซับเอทิลีนที่ใช้ในเชิงการค้า และมีประสิทธิภาพในการดูดซับเอทิลีนได้มากกว่า 15 วัน เมื่อเทียบกับสารดูดซับเอทิลีนชนิดอื่นๆ ซึ่งมีระยะเวลาในการดูดซับเอทิลีนน้อยกว่า นอกจากนี้ซีโอไลต์ Ca-5Aยังมีประสิทธิภาพดีที่สุดในการยืดอายุการเก็บกล้วยหอมทอง สามารถลดการสะสมของก๊าซเอทิลีน ลดอัตราการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อสัมผัส ลดการสูญเสียคลอโรฟิลล์ ชะลอการเปลี่ยนแปลงปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ และความเป็นกรดในกล้วยหอมทองภายหลังการเก็บเกี่ยวได้