ผลของความแปรปรวนของอุณหภูมิการเก็บและบรรจุภัณฑ์เชิงพาณิชย์ต่อสารระเหยของมะละกอพันธุ์ปลักไม้ลายสุกตัดแต่งพร้อมบริโภค
ภูวนาท ฟักเกตุ เฉลิมชัย วงษ์อารี สมโภชน์ น้อยจินดา และ ศิริชัย กัลยาณรัตน์
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 (3 พิเศษ): 669-672. 2554.
2554
บทคัดย่อ
การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของผลิตผลสดตัดแต่งพร้อมบริโภคในระหว่างการกระจายสินค้าตั้งแต่การขนส่งไปจนถึงการวางขายในซุปเปอร์มาเก็ตอาจส่งผลต่อคุณภาพและสารหอมระเหยของผลิตผล งานวิจัยนี้ได้ตรวจสอบสารระเหยของมะละกอพันธุ์ปลักไม้ลายสุกตัดแต่งเก็บรักษาในสภาพบรรยากาศดัดแปรในระหว่างการจำลองการเก็บรักษาภายใต้อุณหภูมิที่แปรปรวน โดยใช้เทคนิคเฮดเสปซโซลิดเฟส ไมโครแอกเทคชัน/แก๊สโครมาโตกราฟี แมสสเปคโตรเมทรี โดยนำชิ้นมะละกอบรรจุลงในถาดพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลตรูปทรงกึ่งแข็งตัว และปิดผนึกด้วยฟิล์มพลาสติกชนิด P-Plus ความหนา 38 ไมโครเมตร ที่มีอัตราการซึมผ่านแก๊สออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ เท่ากับ 1,270 และ 4,200 มล/ม2/วัน ที่อุณหภูมิ 23ºซ และมีอัตราการซึมผ่านของไอน้ำ เท่ากับ 4.23 กรัม/ม2/วัน ที่อุณหภูมิ 38ºซ ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 90 หลังจากนั้นนำไปเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5, 5-10 (เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5ºซ เป็นเวลา 2 วัน แล้วนำมาเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 10ºซ อีก 5 วัน), 10 และ 25ºซ เป็นเวลา 7 วัน ผลการทดลองพบว่าการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำมี ethyl butanoate และ isothiocyanate เป็นสารระเหยที่พบมากที่สุด โดยไม่ขึ้นกับปัจจัยสภาพบรรยากาศการบรรจุและจำนวนวันของการเก็บรักษา แต่การเก็บรักษาที่อุณหภูมิสูงพบว่ามีเอสเทอร์สายตรง คือ methyl butanoate และ ethyl butanoate เด่นชัดที่สุด โดย ethyl butanoate อาจมีความสัมพันธ์กันกับกระบวนการเสื่อมสภาพทางสรีรวิทยาของมะละกอสุกตัดแต่ง การเก็บมะละกอสุกตัดแต่งที่อุณหภูมิ 5ºซ สามารถรักษาคุณภาพการยอมรับของตลาดได้นานถึง 7 วัน