ผลของสภาพบรรยากาศดัดแปรต่อปริมาณสารฟีนอลและกิจกรรมการต้านออกซิเดชันในแครอทตัดแต่งพร้อมบริโภค
รุ่งอรุณ สาสนทาญาติ
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 (3 พิเศษ): 685-688. 2554.
2554
บทคัดย่อ
แครอทเป็นแหล่งของเส้นใยอาหาร แร่ธาตุ สารตั้งต้นของวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ ซึ่งให้ประโยชน์ต่อสุขภาพโดยช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็งและโรคหัวใจ เป็นต้น งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการเก็บรักษาแครอทตัดแต่งพร้อมบริโภคภายใต้สภาพบรรยากาศดัดแปรต่อปริมาณสารประกอบฟีนอลทั้งหมดและกิจกรรมการต้านออกซิเดชัน การทดลองทำโดยนำแครอทตัดแต่งบรรจุในถุงพลาสติกพอลีโพรพีลีนที่มีอัตราการซึมผ่านของออกซิเจน 5000 ml /m2.day (PP 5000) และ 6000 ml /m2.day (PP 6000)และมีตัวอย่างควบคุมซึ่งบรรจุในถุงพลาสติกพอลีเอทิลีนเจาะรู นำไปเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5±1 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 5วัน สุ่มตัวอย่างแครอทเพื่อนำมาวิเคราะห์คุณภาพทุกวัน พบว่าฟิล์ม PP5000 และ PP6000ทำให้เกิดสภาพบรรยากาศดัดแปรภายในถุง โดยทำให้ปริมาณออกซิเจนลดลงจากร้อยละ 21 เหลือเพียงร้อยละ 9-13และร้อยละ 10-14ตามลำดับ และปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.03เป็น 5-8 และร้อยละ 3-6ตามลำดับ ในระหว่างการเก็บรักษาปริมาณสารประกอบฟีนอลทั้งหมดและกิจกรรมการต้านออกซิเดชันที่วัดโดยสองวิธีคือ DPPH- และ ABTS-radical scavenging activityไม่มีการเปลี่ยนแปลงและไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบระหว่างตัวอย่างที่เก็บรักษาภายใต้บรรยากาศดัดแปรและบรรยากาศปกติ