บทคัดย่องานวิจัย

อิทธิพลร่วมของปัจจัยการบรรจุหีบห่อต่อคุณภาพความหอมของข้าวสารพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 หลังการเก็บรักษาระยะนาน

ไกรสีห์ พิสิษฐ์กุล และ สุพัฒน์ ใต้เวชศาสตร์

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 (3 พิเศษ): 713-716. 2554.

2554

บทคัดย่อ

อิทธิพลร่วมของปัจจัยการบรรจุหีบห่อต่อคุณภาพความหอมของข้าวสารพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 หลังการเก็บรักษาระยะนาน

การศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์อิทธิพลร่วมของปัจจัยการบรรจุหีบห่อต่อคุณภาพความหอมของข้าวสารพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 หลังเก็บรักษาในสภาพอุณหภูมิห้องปกตินาน 12 เดือน ตัวอย่างข้าวถูกเก็บรักษาด้วยปัจจัยผสมระหว่างวัสดุบรรจุภัณฑ์ 2 ชนิด ก๊าซ 3แบบ ร่วมกับการใช้และไม่ใช้สารดูดออกซิเจน  คุณภาพความหอมของข้าวประเมินโดยวิเคราะห์ปริมาณสารหอม 2-อะเซติล-1-พิรโรลีน (2-acetyl-1-pyrroline)และสารก่อเกิดกลิ่นหืนเฮ็กซาแนล (hexanal)การทดลองพบว่า ถุงอลูมิเนียมฟอล์ยลามิเนตมีประสิทธิภาพในการรักษา 2-อะเซติล-1-พิรโรลีน และป้องกันการเกิดเฮ็กซาแนลได้ดีกว่าถุงพลาสติกไนลอนลามิเนต การใช้สารดูดก๊าซออกซิเจนในภาชนะบรรจุช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา 2-อะเซติล-1-พิรโรลีน และป้องกันการเกิดเฮ็กซาแนลได้ดีขึ้น และพบว่าการบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีผลต่อการถนอม 2-อะเซติล-1-พิรโรลีน และลดการเกิดเฮ็กซาแนลได้ดีกว่าการบรรจุแบบเติมก๊าซไนโตรเจนและแบบสุญญากาศ การวิเคราะห์ความแปรปรวนพบอิทธิพลร่วมระหว่างวัสดุบรรจุภัณฑ์กับสารดูดก๊าซออกซิเจน และวัสดุบรรจุภัณฑ์กับก๊าซ ซึ่งเป็นผลจากความสามารถที่ต่างกันในการควบคุมการผ่านก๊าซของวัสดุบรรจุภัณฑ์ การพบความสัมพันธ์ ระหว่างปริมาณ 2-อะเซติล-1-พิรโรลีน และเฮ็กซาแนล เฉพาะตัวอย่างที่บรรจุถุงพลาสติกไนลอนลามิเนต (r= -0.88**)  แสดงให้เห็นว่าก๊าซออกซิเจนมีอิทธิพลต่อการเพิ่มขึ้นของเฮ็กซาแนลและอาจมีผลต่อการลดลงของ 2-อะเซติล-1-พิรโรลีน ในข้าวหอมระหว่างการเก็บรักษา