ผลของการเปลี่ยนอุณหภูมิวางจำหน่ายต่อคุณภาพทุเรียนหมอนทองตัดแต่งพร้อมบริโภค
วรภัทร ลัคนทินวงศ์ ปิยะพงษ์ สอนแก้ว และอัสจิมา ฤกษ์ทวีสุข
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 44 (3พิเศษ): 170-173. 2556.
2556
บทคัดย่อ
ปัจจุบันทุเรียนหมอนทองตัดแต่งพร้อมบริโภคได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ทุเรียนที่ผ่านการตัดแต่งมักเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพภายในอย่างรวดเร็ว บางกรณีการวางจำหน่ายในอุณหภูมิที่สูงกว่าอุณหภูมิขนส่งและเก็บรักษาอาจเป็นสาเหตุให้คุณภาพเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงได้ศึกษาผลของการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่มีผลต่อคุณภาพของทุเรียนหมอนทองตัดแต่งโดยใช้ทุเรียนหมอนทองเกรดส่งออก น้ำหนักประมาณ 170 กรัม บรรจุในถาดพลาสติกขนาดความจุ 500 มิลลิลิตร ปิดผนึกด้วยฟิล์มหด ยี่ห้อ CRYOVACÒ ภายใต้สภาพปลอดเชื้อ โดยสิ่งทดลองที่ 1 (Tr1) เก็บรักษา 2°C 15 วัน + 15°C 15 วัน สิ่งทดลองที่ 2 (Tr2) เก็บรักษา 2°C 20 วัน + 15°C 10 วัน สิ่งทดลองที่ 3 (Tr3) เก็บรักษา 2°C25 วัน + 15°C5 วัน และ สิ่งทดลองที่ 4 (Tr4) เก็บรักษา 2°C 30 วัน เมื่อเก็บรักษาครบ 30 วัน พบว่า ปริมาณจุลินทรีย์ทั้งหมดน้อยกว่า 1x106 และยีสต์/รา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน คือ น้อยกว่า 1x104 และ 500 cfu/g ตามลำดับ ความชอบด้านกลิ่นและรส ความเข้มของเนื้อ ค่าสีเหลือง ค่าโครมา ค่ามุมฮิว น้ำหนักที่เปลี่ยนไป ปริมาณน้ำตาลฟรักโทส กลูโคส และซูโครส มีค่าไม่แตกต่างกัน แต่พบว่าการเก็บรักษาที่ 2°C 15 วัน + 15°C 15 วัน มีสีน้ำตาลเกิดขึ้นน้อยกว่าการเก็บรักษาด้วยวิธีการอื่นๆ เมื่อทำการวิเคราะห์ชนิดองค์ประกอบของกลิ่นในเนื้อทุเรียน พบว่ามีสารในกลุ่มซัลเฟอร์ แอลดีไฮด์ เอสเทอร์ แอลกอฮอล์ และคีโทน เมื่ออายุการเก็บรักษานานขึ้นพบว่ามีสารกลุ่มไทออล เอทานอล และแอลดีไฮด์เพิ่มขึ้น ขณะที่ สารในกลุ่มเอสเทอร์ และซัลเฟอร์บางชนิดลดลง