ผลของระยะเก็บเกี่ยวต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพลองกองผลเดี่ยวในระหว่างการเก็บรักษาที่ 151°C
อัญชลี ศิริโชติ ศุภชัย ภิสัชเพ็ญ บุปผา จองปัญญาเลิศ และ ชัยรัตน์ พึ่งเพียร
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 44 (3พิเศษ): 213-216. 2556.
2556
บทคัดย่อ
ลองกองจัดเป็นผลไม้ประเภท non-climacteric ที่ระยะเก็บเกี่ยวเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อรสชาติและอายุการเก็บรักษา งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของระยะเก็บเกี่ยวลองกองต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพในระหว่างการเก็บรักษา โดยเก็บเกี่ยวลองกองในระยะ 13, 14 และ 15 สัปดาห์หลังดอกบาน นำลองกองแต่ละระยะมาบรรจุในถาดพลาสติกชนิด พอลิโพรพิลีนขนาด 135.0´187.0´36.0มม.(กว้าง´ยาว´ลึก)จำนวน 6 ผล ซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 130±2กรัม/ถาด และสารดูดซับเอทิลีน 1 ซอง (3กรัม/ซอง) หุ้มถาดด้วยฟิล์มชนิดพอลิไวนิลคลอไรด์ความหนา 11 ไมครอน และปิดผนึกด้วย Adhesive tape เก็บรักษาที่ 15±1°C ติดตามการเปลี่ยนแปลงคุณภาพระหว่างการเก็บรักษา 0, 3, 6, 9, 12 และ 15 วัน พบว่า ผลลองกองทุกชุดการทดลองสามารถเก็บรักษาได้นาน 9 วัน โดยไม่พบการเน่าเสีย และยังมีค่า L* และค่า chroma(C*) ในส่วนเปลือกไม่แตกต่างจากวันที่ 0 แต่เมื่อเก็บรักษาเป็นระยะเวลา 12 และ 15 วัน พบการเน่าเสีย และค่า L*, C* และ hue angle (h°) มีแนวโน้มลดลง (p<0.05) โดยผลลองกองที่มีระยะเก็บเกี่ยว 13 สัปดาห์หลังดอกบาน เมื่อเก็บรักษานาน 15 วัน มีการเปลี่ยนแปลงของค่าสีทั้งหมด (DE) มากกว่าทุกชุดการทดลอง (p<0.05) นอกจากนี้ยังพบว่า กิจกรรมของเอนไซม์ พอลิฟีนอลออกซิเดส (PPO) ในส่วนเปลือกของลองกองทุกชุดการทดลองมีค่าเพิ่มขึ้น (p<0.05) ขณะที่ค่าอัตราส่วนของปริมาณของแข็งที่ละลายได้ทั้งหมดต่อปริมาณกรดที่ไทเทรตได้ (TSS/TA) ในส่วนเนื้อผลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (p<0.05) เมื่อเก็บรักษานานขึ้น