บทคัดย่องานวิจัย

การลดสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างในพริกชี้ฟ้าเพื่อเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหาร

อรรณพ ทัศนอุดม วราภา มหากาญจนกุล ยศยา ทุริสุทธิ์ จานุลักษณ์ ขนบดี งามจิตร โล่วิทูร และ ชิดชม ฮิรางะ

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 44 (3พิเศษ): 295-298. 2556.

2556

บทคัดย่อ

การลดสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างในพริกชี้ฟ้าเพื่อเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหาร

การสุ่มตัวอย่างพริกชี้ฟ้าสด(Capsicum annuumLinn. Var acuminatum Fingerh.) จำนวน 50 ตัวอย่างนำไปตรวจสอบสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างด้วยชุดทดสอบ GT test kit พบว่าร้อยละ 40 ของตัวอย่างปนเปื้อนสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชในระดับที่ไม่ปลอดภัย  ผลการศึกษาการล้างพริกด้วยน้ำผสมสารออกซิไดส์เพื่อลดสารกำจัดศัตรูพืช คือ คลอร์ไพริฟอสและโพรฟิโน-ฟอส โดยสร้างการปนเปื้อนเริ่มต้นในพริกด้วยสารคลอร์ไพริฟอสและโพรฟิโนฟอสที่ 50 และ 5 มก./ลิตร คือ 100 เท่าของค่า EU-MRLs  และที่ 5 และ 0.5 มก./ลิตร คือ 10เท่าของค่า EU-MRLs  ล้างด้วยน้ำโอโซน 0.5 และ 1.0มก./ลิตร น้ำอิเล็กโทรไลซ์ชนิดกรด 50 และ 70 มก./ลิตรและน้ำผสมโซเดียมไฮโพคลอไรต์ 100 และ 200 มก./ลิตรล้างเป็นเวลา 5และ 10 นาที ที่ 25oC  เปรียบเทียบกับการล้างด้วยน้ำประปา  พบว่าการล้างที่ 5และ 10นาที สารกำจัดศัตรูพืชทั้ง 2 ชนิดลดลงแตกต่างกัน (p≤0.05)  ที่ระดับการปนเปื้อน 100 เท่าของค่า EU-MRLsเมื่อล้างด้วยน้ำโอโซนเป็นเวลา 10นาที ลดสารคลอร์ไพริสารคลอร์ไพริฟอสได้ร้อยละ 88–89 และลดสารโพรฟิโนฟอสได้ร้อยละ 51–66  และที่ระดับการปนเปื้อน 10 เท่าของค่า EU-MRLs  การล้างพริกด้วยน้ำโอโซนและน้ำอิเล็กโทรไลต์ชนิดกรด 10นาที ช่วยลดสารคลอร์ไพริฟอสในพริกได้ร้อยละ 42–67 และ 42–46  แต่ลดสารโพรฟิโนฟอสได้เพียงร้อยละ 21–47และ 13–17ตามลำดับ  การศึกษาครั้งนี้พบว่าการล้างพริกชี้ฟ้าด้วยน้ำโอโซน 1 มก./ลิตรเป็นเวลา 10 นาที ให้ผลดีที่สุด จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของกระบวนการล้างพริกเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร  ลดการตกค้างของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชในวัตถุดิบพริกจะช่วยเพิ่มคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์แปรรูปจากพริกชี้ฟ้า