การควบคุมโรคผลเน่าและแอนแทรคโนสมะละกอหลังการเก็บเกี่ยวด้วยยีสต์ปฏิปักษ์
รัติยา พงศ์พิสุทธา ชัยณรงค์ รัตนกรีฑากุล พัทยา จำปีเรือง วาสนา ทองปิ่น และ รณภพ บรรเจิดเชิดชู
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 44 (3พิเศษ): 351-354. 2556.
2556
บทคัดย่อ
โรคผลเน่าและโรคแอนแทรคโนสของผลมะละกอเป็นโรคที่สำคัญสร้างความเสียหายเป็นอย่างมากในตลาดผลไม้สด งานวิจัยนี้ได้ทดสอบวิธีควบคุมโรคหลังการเก็บเกี่ยวที่เกิดจากเชื้อรา Lasiodiplodia theobromae และ Colletotrichum gloeosporioides โดยนำผลมะละกอพันธุ์ปลักไม้ลายที่ปลูกเชื้อด้วยเส้นใยเชื้อสาเหตุอายุ 5 วัน จากนั้นนำมาทดสอบวิธีควบคุมโรค 5 วิธี ได้แก่ 1) การแช่ในสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา difenoconazoleความเข้มข้น 250 ppmนาน 5นาที 2)แช่ในสารละลายเจือปนอาหาร 0.5% ammonium bicarbonate นาน 5 นาที 3) ฉีดพ่นสารละลายแขวนลอยเซลล์ยีสต์ Saccharomycopsis fibuligera (ทดสอบกับเชื้อรา L. theobromae) /Pichia anomala(ทดสอบกับเชื้อรา C. gloeosporioides) จำนวน 1x108เซลล์/มล. 4) แช่ในสารละลายเจือปนอาหาร 0.5% ammonium bicarbonateนาน 5 นาที แล้วฉีดพ่นด้วยสารละลายแขวนลอยเซลล์ยีสต์ และ 5) แช่ในน้ำร้อน 47 °Cนาน 30 นาที จากนั้นนำไปบ่มที่อุณหภูมิ 15 และ 25°C พบว่าการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 15°C สามารถควบคุมเชื้อสาเหตุทั้งสองชนิดได้ดี อย่างไรก็ตามที่อุณหภูมิ 25°C ผลมะละกอที่ปลูกเชื้อ L. theobromaeแล้วแช่ในสารเคมี difenoconazole แช่ในน้ำร้อน และฉีดพ่นสารละลายแขวนลอยเซลล์ยีสต์ S. fibuligera หลังการบ่ม 5 วัน พบขนาดแผลเท่ากับ 28.90, 71.20 และ 80.20 มิลลิเมตร ตามลำดับ (LSD=34.60) ส่วนผลมะละกอที่ปลูกเชื้อ C. gloeosporioidesที่แช่ในสารเคมี difenoconazoleและฉีดพ่นสารละลายแขวนลอยเซลล์ยีสต์ P. anomalaหลังการบ่ม 6 วัน พบขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางแผลเท่ากับ 1.95 และ 2.19 เซนติเมตร ตามลำดับ (LSD=8.91) จากการศึกษาปฏิกิริยาระหว่างยีสต์และเชื้อราสาเหตุใต้กล้องจุลทรรศน์แบบส่องกราด พบการยึดเกาะระหว่างเซลล์ของยีสต์และเส้นใยและสปอร์ของเชื้อราสาเหตุ นอกจากนี้พบการเจาะผนังเส้นใยหรือสปอร์ของเชื้อราสาเหตุโรค ซึ่งน่าจะนำมาใช้เป็น bioagent ในการควบคุมเชื้อราสาเหตุโรคผลเน่าและแอนแทรคโนสหลังการเก็บเกี่ยวในผลมะละกอได้