เครื่องผลิตข้าวเปลือกงอก
นฤบดี ศรีสังข์ น้ำฝน กัณทบุตร ภัสรา วงศ์จินดา และ สุธาธิณี สามคำนิล
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 44 (3พิเศษ): 474-477. 2556.
2556
บทคัดย่อ
วิธีการทำข้าวงอกโดยทั่วไปใช้การแช่ข้าวในน้ำเป็นเวลาประมาณ 48-72 ชั่วโมง ส่งผลให้ข้าวงอกเกิดกลิ่นเหม็นเนื่องจากการหมักของข้าว ดังนั้นในงานวิจัยนี้จึงมีการสร้างเครื่องผลิตข้าวเปลือกงอก (PGM) เพื่อเพาะงอกข้าว และฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการเพาะงอก ตัวเครื่องประกอบด้วย ถังแช่ขนาด 45 x75 x20 cm3ทำจากสแตนเลส หุ้มด้วยฉนวน และภายในติดตั้งฮีตเตอร์ขนาด 4500 วัตต์ เพื่อควบคุมอุณหภูมิน้ำที่ 40°Cถังตะแกรงทรงกระบอกสำหรับบรรจุข้าวขนาด 12.5 x54.5 cm2ทำจากจากสแตนเลสหัวสเปรย์น้ำ จำนวน 2 หัว สำหรับสเปรย์น้ำในระหว่างการเพาะงอก และปั๊มน้ำขนาด 0.5 HP ในการทดลองนำข้าวเปลือกพันธุ์ดอกพะยอมมาเพาะงอก เพื่อศึกษาผลกระทบของเวลาการแช่ข้าวในน้ำ (3 6 และ 9 ชั่วโมง)และสภาวะการบ่ม (สถาวะเปิดและปิด) ต่อการงอก และคุณภาพของข้าวเปลือกงอกที่ได้จาก PGM ประเมินจาก ปริมาณของจุลินทรีย์ สีเมล็ดข้าว เปอร์เซ็นต์การแตกหัก ปริมาณสาร γ-amino–butyric acid (GABA)และกลิ่นของข้าวเปลือกงอกจากการทดสอบด้วยแบบสอบถาม ผลการศึกษาพบว่า การแช่ข้าวเปลือกในน้ำอุณหภูมิ 40°Cเป็นเวลา 9 ชั่วโมง ร่วมกับการบ่มที่อุณหภูมิห้อง (27°C) ในสภาวะปิดเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ทำให้ได้ข้าวเปลือกงอกที่มีเปอร์เซ็นต์การงอกสูงสุดเท่ากับ 85.67%ปริมาณจุลินทรีย์อยู่ในระดับที่ปลอดภัย (น้อยกว่า 10,000 โคโลนีต่อกรัม) ปริมาณสาร GABAเท่ากับ 9.46 mg/100 g ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณสามเท่าหลังการงอก สีเมล็ดข้าวแตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญกับสีเมล็ดข้าวเปลือกงอกที่วางจำหน่าย เปอร์เซ็นต์การแตกหักของเมล็ดข้าวแตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญหลังจากการงอกด้วยเครื่อง และผลจากแบบสอบถามแสดงถึงกลิ่นของข้าวเปลือกงอกได้รับความพึงพอใจอยู่ในระดับดีมาก