บทคัดย่องานวิจัย

การปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียในแตงแคนตาลูปตัดแต่ง : กรณีศึกษาการตรวจเชื้อ Listeria monocytogenes นอกห้องปฏิบัติการโดยใช้เทคนิค HDA และแผ่นเงินนาโนสีฟ้า

กัลย์กนิต พิสมยรมย์ และ ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 45 (3/1 พิเศษ): 25-28. 2557.

2557

บทคัดย่อ

การปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียในแตงแคนตาลูปตัดแต่ง : กรณีศึกษาการตรวจเชื้อ Listeria monocytogenes นอกห้องปฏิบัติการโดยใช้เทคนิค HDA และแผ่นเงินนาโนสีฟ้า

การเรียกคืนสินค้าแตงแคนตาลูปในสหรัฐอเมริกา อันเนื่องจากการปนเปื้อนของแบคทีเรีย Listeria monocytogenesในปี ค.ศ. 2003 ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการควบคุมคุณภาพและการจัดการด้านความปลอดภัยในผลไม้สดตัดแต่ง วิธีการดั้งเดิมในการตรวจสอบความปลอดภัย ทั้งการตรวจนับจุลินทรีย์  วิธีการตรวจทางเซรั่มวิทยา ต้องใช้แรงงาน  เวลา และที่สำคัญต้องพึ่งห้องปฏิบัติการในด้านเครื่องมือ การศึกษาครั้งนี้ได้พัฒนาวิธีการเฮลิเคสดีเพนเดนท์แอมพิฟิเคชันและการตรวจสอบสัญญาณดีเอ็นเอด้วยแผ่นเงินนาโนสีฟ้าในการตรวจสอบยีน hly ของแบคทีเรีย L. monocytogenes ในแตงแคนตาลูปสดตัดแต่ง กระบวนการตรวจสอบนี้ขึ้นอยู่กับขั้นตอนการเลี้ยงในอาหารเหลว Terrific  Broth ด้วยการนำสำสีก้อนที่เช็ดบนพื้นผิวของผลไม้สดตัดแต่ง เพื่อสามารถทำการเพิ่มจำนวนยีน hly ที่อุณหภูมิคงที่ 65 องศาเซลเซียส ผลิตภัณฑ์ดีเอ็นเอที่ได้จากวิธีการเฮลิเคสดีเพนเดนท์แอมพิฟิเคชันตรวจสอบได้จากการเปลี่ยนสีของสารละลายแผ่นเงินนาโนสีฟ้า ตัวอย่างที่ให้ผลเป็นบวกจะไม่เกิดการตกตะกอนของแผ่นนาโน เห็นเป็นสีน้ำเงิน ขณะที่ตัวอย่างที่ให้ผลเป็นลบจะเห็นเป็นสีเทาจางๆ จากการตกตะกอนแผ่นนาโน  ปริมาณดีเอ็นเอต่ำสุดที่วิธีการนี้สามารถตรวจสอบได้คือ 100 ก๊อปปี้ของแบคทีเรีย L. monocytogenes ต่อ 50 กรัมตัวอย่าง และไม่เกิดปฏิกิริยากับตัวอย่างที่ปนเปื้อนด้วยแบคทีเรียชนิดอื่น ผลการเก็บตัวอย่างแตงแคนตาลูปสดตัดแต่งในเขตปทุมวัน กรุงเทพ ช่วงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2013 ไม่พบว่ามีการปนเปื้อนเชื้อชนิดนี้ในแตงแคนตาลูปสดตัดแต่ง    วิธีการนี้มีข้อดีคือ รวดเร็ว ง่าย และลดการพึ่งพาห้องปฏิบัติการ จึงเหมาะที่จะนำมาใช้ตรวจสอบความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์สดตัดแต่ง