บทคัดย่องานวิจัย

ประสิทธิภาพของน้ำส้มควันไม้จากต้นยูคาลิปตัสและยางพาราในการควบคุมเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides สาเหตุโรคแอนแทรคโนสของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้

วิกานดา หน่ายชาวนา และ สรัญยา ณ ลำปาง

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 45 (3/1 พิเศษ): 37-40. 2557.

2557

บทคัดย่อ

ประสิทธิภาพของน้ำส้มควันไม้จากต้นยูคาลิปตัสและยางพาราในการควบคุมเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides สาเหตุโรคแอนแทรคโนสของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้

เก็บรวบรวมเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioidesสาเหตุโรคแอนแทรคโนสของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ จากแหล่งจำหน่าย 3 แหล่ง ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอสันป่าตอง และอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ได้จำนวน 35ไอโซเลท แล้วคัดเลือกไอโซเลทที่ก่อโรครุนแรงที่สุดคือ NDM_MuF3ไปใช้ในการทดสอบ จากนั้นทดสอบประสิทธิภาพของน้ำส้มควันไม้ในการยับยั้งการเจริญของเชื้อราสาเหตุ พบว่าน้ำส้มควันไม้ที่ความเข้มข้น 1.0%(v/v) จากยางพาราสามารถยับยั้งการเจริญของเส้นใย  เชื้อรา C. gloeosporioides ได้ 100%ดีกว่าน้ำส้มควันไม้จากยูคาลิปตัสซึ่งยับยั้งได้ 32.59%อย่างมีนัยสำคัญ แต่มีประสิทธิภาพของสารสกัดทั้งสองไม่แตกต่างกันในการยับยั้งการงอกของสปอร์ได้ 100% หลังจากการทดสอบเป็นเวลา            6 ชั่วโมง ส่วนในด้านของการป้องกันการเกิดโรคแอนแทรคโนสบนผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ พบว่าการแช่ผลมะม่วงในน้ำส้มควันไม้จากยางพาราที่ความเข้มข้น 1.0% (v/v) เป็นเวลา 1 นาที ก่อนการปลูกเชื้อสามารถลดการเกิดได้ถึง 82.47% ในขณะที่ชุดควบคุมที่ไม่ได้แช่น้ำส้มควันไม้แสดงอาการของโรคถึง 100%โดยที่น้ำส้มควันไม้ทั้งสองชนิดไม่ทำความเสียหายใดๆ แก่ผลมะม่วง เนื่องจากกลิ่นของน้ำส้มควันไม้จะหายไปตั้งแต่วันแรกหลังจากการแช่ นอกจากนี้สีเปลือก และรสชาติของมะม่วง ไม่ต่างจากมะม่วงชุดควบคุมที่ไม่แช่น้ำส้มควันไม้