ผลของ culture filtrate จากเชื้อราบางชนิดต่อการควบคุมโรคแอนแทรคโนสของกล้วยหอมทอง (Musa acuminata, AAA group)
วีระณีย์ ทองศรี ศิริอร บวรวทัญญู และสมศิริ แสงโชติ
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 45 (3/1 พิเศษ): 53-56. 2557.
2557
บทคัดย่อ
โรคแอนแทรคโนสของกล้วย มีสาเหตุจากเชื้อรา Colletotrichum musaeเป็นโรคหนึ่งที่ทำความเสียหายต่อกล้วยทั่วโลก มีรายงานการใช้วิธีต่างๆ ในการควบคุมโรคนี้มาก่อน ในการศึกษาครั้งนี้ ได้ทดลองนำ culture filtrate จากเชื้อราที่คัดเลือกมาใช้ควบคุมการเกิดโรคเพื่อลดการใช้สารเคมีให้น้อยลง โดยนำ culture filtrate ของเชื้อรา 4 ชนิด ได้แก่ Phomopsis WYJ1, Phomopsis 07, Phomopsis C13 และ Rhizoctonia DSW1ซึ่งแยกได้จากต้นกล้าทุเรียน พบว่า culture filtrate จากเชื้อรา Phomopsis WYJ1มีประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงของโรคได้ดีที่สุดถึง 75.0% รองลงมาคือจากเชื้อรา Rhizoctonia DSW1(44.9%) และ Phomopsis 07 (38.6%) นอกจากนั้น culture filtrate ของเชื้อรา Phomopsis WYJ1 ยังสามารถยับยั้งการงอกของสปอร์และลดการเจริญจากปลายเส้นใขของเชื้อรา C. musae บนอาหาร water agar ได้ 19.4 และ 46.6% ตามลำดับ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อทำการศึกษาการมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญของเชื้อราของ culture filtrate จากเชื้อรา Phomopsis WYJ1โดยวิธี bioassay บนแผ่น TLC ซึ่งใช้เชื้อรา Cladosporium oxysporumเป็นเชื้อทดสอบ พบว่า บนแผ่น TLC ปรากฏบริเวณยับยั้งเป็นช่วงกว้าง โดยมีค่า retention factor (Rf) อยู่ในช่วง 0.08-0.96