บทคัดย่องานวิจัย

การเกิดสารระเหยให้กลิ่นรสในลองกองระหว่างการเก็บรักษาในสภาวะควบคุมบรรยากาศร่วมกับการสลับอุณหภูมิ

ศรินญา สังขสัญญา และ มุทิตา มีนุ่น

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 45 (3/1 พิเศษ): 85-88. 2557.

2557

บทคัดย่อ

การเกิดสารระเหยให้กลิ่นรสในลองกองระหว่างการเก็บรักษาในสภาวะควบคุมบรรยากาศร่วมกับการสลับอุณหภูมิ

ลองกองเป็นผลไม้เมืองร้อนที่เน่าเสียง่ายต้องการการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวที่มีประสิทธิภาพเพื่อใช้ยืดอายุการเก็บรักษา อุณหภูมิต่ำควบคู่กับการควบคุมบรรยากาศได้ถูกนำมาใช้เป็นทางเลือกเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาของผลลองกอง อย่างไรก็ตามพบว่าเมื่อเก็บรักษานานขึ้น ผลลองกองแสดงลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ เช่น เกิดสีน้ำตาลปนแดงที่เปลือก สูญเสียความแน่นเนื้อ และเกิดการสะสมของเอทานอล ดังนั้นเพื่อที่จะลดการเกิดลักษณะไม่พึงประสงค์ดังกล่าว งานวิจัยนี้จึงศึกษาผลของการใช้อุณหภูมิสลับร่วมกับการควบคุมบรรยากาศ (5% CO2: 5% O2) ระหว่างการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 18 องศาเซลเซียส และใช้อุณหภูมิสลับที่ 30 องศาเซลเซียส แตกต่างกัน 9 ชุดการทดลอง (สุ่มตัวอย่างในวันที่ 2, 5, 8, 11, 14, 17, 20, 23 และการใช้อุณหภูมิสลับทุก 2 วัน) และมีชุดที่ไม่ใช้อุณหภูมิสลับเป็นชุดควบคุม จากผลการทดลองพบว่า เมื่อเก็บนาน 24 วัน ผลลองกองในชุดที่มีการใช้อุณหภูมิสลับในทุก 2 วัน ระหว่างการเก็บรักษา มีคุณภาพดีที่สุด โดยมีการสูญเสียน้ำหนักเพียงร้อยละ 0.73 อัตราการเปลี่ยนแปลงของสีผิวของผลลองกองมีค่าต่ำสุด (p<0.05)และพบว่าระหว่างการเก็บรักษาภายใต้สภาวะนี้สารระเหยที่แสดงลักษณะกลิ่นรสของผลลองกองที่ดี ได้แก่3-hydroxy-2-butanone, linalool และ  germacrene มีความคงตัวมากสุด และการเกิดเอทานอลสะสมต่ำสุด (p<0.05)โดยมีค่าเท่ากับ 0.21 กรัมต่อกรัมน้ำหนักของผลสด