การใช้สารสกัดจากอบเชยเทศในการลดปริมาณจุลินทรีย์ในสารละลายปักแจกันของกุหลาบตัดดอก พันธุ์ Grand Gala
มัณฑนา บัวหนอง และ เนตรนภิส เขียวขำ
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 45 (3/1 พิเศษ): 105-108. 2557.
2557
บทคัดย่อ
จากการศึกษาการปักแช่ดอกกุหลาบพันธุ์ Grand Gala ในน้ำกลั่น (ชุดควบคุม) สารละลายเมทานอลที่ความเข้มข้น 1,000 ppmและสารละลายอบเชยเทศที่ความเข้มข้น 1,000 ppmที่อุณหภูมิ 21+2 oC, ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80% RH, ภายใต้แสง cool-white fluorescent นาน 12 ชั่วโมง/วัน ตลอดระยะเวลาการทดลอง พบว่า การปักแช่ดอกกุหลาบในสารละลายอบเชยเทศสามารถลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ในน้ำปักแจกันได้ดีที่สุด ในขณะที่ดอกกุหลาบที่ปักในน้ำกลั่นมีการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์มากที่สุด เท่ากับ 3.78 log CFU•ml-1ในวันที่ 6 ของการปักแจกัน ซึ่งสัมพันธ์กับปริมาณจุลินทรีย์ในท่อลำเลียง ในวันที่ 0 และ 6 ของการปักแจกันเมื่อตรวจสอบภายใต้กล้องจุลทรรศน์แบบส่องกราด (Scanning ElectronMicroscope; SEM) นอกจากนั้น การปักแช่ในสารละลายอบเชยเทศช่วยชะลอการสูญเสียน้ำหนักสดได้ดีกว่าชุดการทดลองอื่น ๆ และดอกกุหลาบมีอายุการปักแจกันนานที่สุด เท่ากับ 8.0 วัน ในขณะที่ชุดควบคุม (น้ำกลั่น) และดอกกุหลาบที่ทำการปักแช่ในน้ำกลั่นและสารละลายเมทานอลมีอายุการปักแจกัน เท่ากับ 5.9 วัน 5.6 วันตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การปักในสารละลายเมทานอลกลับช่วยให้ดอกกุหลาบมีการบานเพิ่มขึ้นมากที่สุด