บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการรมด้วยไอของน้ำมันหอมระเหยสะระแหน่ร่วมกับการเคลือบผิวด้วยไคโทซานต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของหัวหอมแดง

ณัฐชยา ใจดี และ วาสนา พิทักษ์พล

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 45 (3/1 พิเศษ): 209-212. 2557.

2557

บทคัดย่อ

ผลของการรมด้วยไอของน้ำมันหอมระเหยสะระแหน่ร่วมกับการเคลือบผิวด้วยไคโทซานต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของหัวหอมแดง

การศึกษาผลของการรมด้วยไอระเหยของน้ำมันหอมระเหยสะระแหน่ร่วมกับการเคลือบผิวด้วยไคโทซานต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของหอมแดง โดยนำหอมแดงที่เก็บเกี่ยวจากแปลงเกษตรกรมาทำการผึ่งให้แห้งเป็นระยะเวลา 14 วัน หลังจากนั้นนำมาตัดแต่งเอาใบแห้งทิ้ง และคัดเลือกหอมแดงที่มีขนาดใกล้เคียงกันและไม่เป็นโรคราดำ นำหอมแดงมารมด้วยน้ำมันหอมระเหยสะระแหน่ที่ระดับความเข้มข้น 50 ไมโครลิตรเป็นระยะเวลา 72 ชั่วโมง หรือจุ่มในสารละลายไคโทซานที่ระดับความเข้มข้น 2.0 และ 3.0 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 1 นาที หรือรมด้วยน้ำมันหอมระเหยสะระแหน่ร่วมกับการจุ่มในสารเคลือบผิวไคโทซาน เปรียบเทียบกับชุดควบคุมคือหอมแดงที่ไม่ได้เคลือบผิวและจุ่มในน้ำกลั่น ทำการบันทึกการสูญเสียน้ำหนัก การเน่าเสีย และการเกิดโรคราดำ ระหว่างการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 33±2 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 65±2 เป็นเวลา 90 วัน  ผลการศึกษาพบว่าการรมด้วยน้ำมันหอมระเหยสะระแหน่ที่ระดับความเข้มข้น 50 ไมโครลิตร ร่วมกับการเคลือบผิวด้วยไคโทซาน 3.0 และ 2.0 เปอร์เซ็นต์ ช่วยลดการสูญเสียน้ำหนัก  การเน่าเสีย และอัตราการเกิดโรคราดำของหอมแดงได้ โดยมีค่าเท่ากับ 19.15-20.12เปอร์เซ็นต์2.67-4.00 เปอร์เซ็นต์ และ 2.21-2.24 คะแนน ตามลำดับ ในขณะที่ชุดควบคุมที่จุ่มในน้ำกลั่น มีค่าเท่ากับ 23.32 เปอร์เซ็นต์ 6.00 เปอร์เซ็นต์ และ 2.83 คะแนน ตามลำดับ