บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการลดอุณหภูมิแบบผ่านอากาศเย็นต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของผลสตรอว์เบอร์รี พันธุ์พระราชทาน 80 และ 329

ชัยพิชิต เชื้อเมืองพาน ดนัย บุณยเกียรติ และสุภาวดี ศรีวงค์เพ็ชร

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 45 (3/1 พิเศษ): 217-220. 2557.

2557

บทคัดย่อ

ผลของการลดอุณหภูมิแบบผ่านอากาศเย็นต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของผลสตรอว์เบอร์รี พันธุ์พระราชทาน 80 และ 329

การลดอุณหภูมิของผลไม้ก่อนการเก็บรักษาเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยรักษาคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยว โดยศึกษาผลของการลดอุณหภูมิแบบผ่านอากาศเย็นต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของผลสตรอว์เบอร์รีนำผลสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 และ 329 ที่มีอุณหภูมิเริ่มต้น 22.89 และ 22.19 องศาเซลเซียส ตามลำดับ มาลดอุณหภูมิลงเป็น 4 องศาเซลเซียส พบว่า ผลสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 และ 329 มีค่าเฉลี่ยของ half cooling time 28.20 และ 40.82 นาที  ค่า seven-eighths cooling time90.21 และ 124.20 นาที ค่า cooling coefficients0.03 และ 0.02 ต่อนาที และมีค่า lag factors 0.90 และ 0.97 ตามลำดับ จากนั้นนำผลสตรอว์เบอร์รีไปเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 0 และ 5 องศาเซลเซียส นาน 10 วัน พบว่า ผลสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 มีปริมาณวิตามินซี ของแข็งทั้งหมดที่ละลายน้ำได้ และการสูญเสียน้ำหนักสดมากกว่าพันธุ์ 329  แต่มีความแน่นเนื้อ ปริมาณกรดที่ไทเทรตได้ สารประกอบฟีนอล กิจกรรมของสารต้านอนุมูลอิสระ แอนโทไซยานิน และอายุการเก็บรักษาน้อยกว่าพันธุ์ 329  ผลสตรอว์เบอร์รีที่ผ่านการลดอุณหภูมิมีความแน่นเนื้อ ปริมาณกรดที่ไทเทรตได้ ของแข็งทั้งหมดที่ละลายน้ำได้ และกิจกรรมของสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าผลที่ไม่ผ่านการลดอุณหภูมิ โดยผลที่ผ่านการลดอุณหภูมิมีอายุการเก็บรักษานานกว่าผลที่ไม่ผ่านการลดอุณหภูมิ  การเก็บรักษาผลสตรอว์เบอร์รีที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส ทำให้ปริมาณกรดที่ไทเทรตได้ วิตามินซี สารประกอบฟีนอล แอนโทไซยานิน และการสูญเสียน้ำหนักสดมากกว่าการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ผลสตรอว์เบอร์รีที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส มีความแน่นเนื้อมากกว่าและอายุการเก็บรักษานานกว่าผลสตรอว์เบอร์รีที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส